ระวังถูกหลอกซื้อสินค้าออนไลน์

0
1633

ปัจจุบันร้านค้าออนไลน์ เกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาล สินค้าหลากหลายชนิด นับเป็นยุคของใครอยากค้าขาย ก็สามารถทำได้สะดวกสบาย  ในขณะที่ผู้บริโภคในสังคมก้มหน้ามองจอ  อ่านอะไร เปิดหน้าไหนในออนไลน์ ก็พบแต่โฆษณา สมาร์ทโฟนในมือคือตลาด คือจุดโฆษณา และเป็นการโฆษณาที่ซับซ้อน มีการให้ข้อมูลทางวิชาการมาประกอบ มีการอ้างอิงหน่วยงานเด่นๆดังๆ อ้างอิงบุคคลที่มีชื่อเสียง  ความจริงกับความเท็จปะปนกันในโลกออนไลน์

พฤติกรรมการซื้อสินค้าจึงได้รับอิทธิพลจากกลไกการตลาดของร้านค้าออนไลน์ ผู้บริโภคยุคนี้ จึงนิยมซื้อ อีกทั้งการนำเสนอในออนไลน์ มักจะมีความน่าสนใจ ใช้คำกล่าวอ้าง ชักจูง โน้มน้าวใจได้ง่าย ด้วยภา พ ด้วยเสียง ด้วยเทคนิคในระบบออนไลน์

การร้องเรียนของผู้บริโภคพบว่า มีปัญหาการหลอกลวง สินค้าไม่ตรงในภาพ สินค้าไม่มีคุณภาพที่อวดอ้าง สินค้าอันตราย สินค้าผิดกฎหมาย  โอนเงินไปแล้วไม่ได้รับสินค้า และเมื่อเข้าสู่การร้องเรียน บางครั้งก็ไม่สามารถใช้กฎหมายให้ได้ผล ตามที่ควรจะเป็น เนื่องจากระบบออนไลน์ ในเสี้ยววินาที ก็ปิดร้านออนไลน์หนี และหากติดตามคดีจนถึงที่สุด ก็อาจมีความล่าช้า และเอกสารที่เป็นหลักฐาน อาจไม่เพียงพอที่จะดำเนินการ

ดังนั้น เราควรป้องกันตนเอง เพื่อไม่ให้ถูกหลอก

1        ควรหาข้อมูลให้รอบคอบ ก่อนตัดสินใจซื้อ ว่าเราต้องการสินค้านั้นจริงหรือ  แถวบ้านเรามีขายหรือไม่ ถ้ามี เราควรไปดูตัวอย่างสินค้าที่ขายแถวบ้าน จะดีกว่า เพราะเราจะได้เห็นของจริง แต่หากเราสมัครใจซื้อทางออนไลน์ ด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ต้องหาพิจารณาให้รอบคอบ

2        ทุกครั้งที่พบสินค้าที่เราต้องการในออนไลน์ ขอให้ตรวจสอบว่า ร้านค้าออนไลน์นั้น มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่ ช่องติดต่อ(Contact Us)หรือ เกี่ยวกับเรา  จะเห็นเลขรหัสทะเบียน และสัญลักษณ์ทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ปัญหาคือ บางทีเราอาจซื้อจากการขายเร่บนออนไลน์ เช่น ใช้คำว่า ติดต่อหลังไมค์ หรือให้แต่ e-mail หรือให้แต่ชื่อเล่น และเบอร์โทรศัพท์  หรือ โฆษณาขายตามกระทู้ต่างๆ ซึ่งรูปแบบเช่นนี้ เข้าข่ายน่าสงสัย ระวังการหลอกลวง

3        ระบบการโอนเงิน การจ่ายเงิน เป็นระบบที่ยังไม่สามารถจะรับรองได้ว่า มีความปลอดภัย    เพราะในโลกออนไลน์  มีมิจฉาชีพในระดับซับซ้อน ที่อาจล้วงรหัส ระบบการโอน จึงต้องระมัดระวัง  ใส่ใจคำเตือน จากหน่วยงาน หรือระบบของธนาคารทีมีการเตือนลูกค้าเสมอ  เงื่อนไขทุกอย่างที่เกี่ยวข้องการโอน การส่งสินค้าต้องสอบถามให้เข้าใจ ตรงกัน หากผู้ขายไม่เปิดเผยข้อมูล ที่ตรวจสอบได้ ก็ไม่ควรซื้อโดยเด็ดขาด

4        ผู้บริโภค ต้องสร้างความเข้าใจในการรู้เท่าทันสื่อในการค้าขาย  การโฆษณาออนไลน์ ให้มาก  เพราะเทคนิคการถ่ายภาพ การโฆษณาออนไลน์นั้น  อาจทำให้เราคล้อยตามได้ง่าย หากเราสนใจสินค้าใด ควรเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานสินค้า จากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อประกอบข้อมูล เช่น เราต้องการซื้อครีมหน้าขาว ก็ควรเข้าเว๊บไซต์ของ อย. เพื่อหาความรู้เพิ่มเติม

5        ทุกครั้งที่จะซื้อสินค้า ควร search หาข้อมูลก่อนให้มาก ตัดสินใจให้รอบคอบ อย่าซื้อสินค้าที่มีคำเตือนอันตรายหรือผิดกฎหมาย

 

นี่เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นที่ อาจป้องกันเราไม่ให้ถูกหลอก หลักการสำคัญ คือตัวเรา ต้องเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ อย่าวางเพิกเฉยคำเตือน  ยอมให้ตัวเองเสี่ยงอันตราย แต่เมื่อเราพยายามหาข้อมูลและตัดสินใจรอบคอบแล้ว ยังมีปัญหา ต้องร้องเรียน ตามสิทธิผู้บริโภค หรือแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินคดี

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected],www.smileconsumer.com

 

 

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  .24 มิย 57….คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7