ถึงเวลาสำรวจกระทะ

0
1390

 หลายครั้งที่ได้ชมรายการโทรทัศน์ รายการอาหารหรู ดูอร่อย แต่เมื่อเห็นกระทะที่นำมาใช้ปรุงอาหาร จะเป็นรอยปุ่มปรุๆพองๆของกระทะอลูมิเนียม หรือเห็น กระทะดำไหม้ แม้ว่า บางคนจะถือเคล็ดว่า ถ้าเปลี่ยนจะไม่อร่อยไม่ถูกโฉลกกับพ่อครัว แต่ ในความเป็นจริง อันตรายจากการปนเปื้อนสารเคมีจากกระทะแบบนี้ถือว่าอันตรายต่อผู้บริโภค ทั้งในบ้านของเราเอง หรือในร้านอาหาร

การเลือกซื้อเครื่องครัว ที่เป็นกระทะ หม้อ สำหรับปรุงอาหาร มีความจำเป็นที่ต้องอ่านฉลากก่อนตัดสินใจซื้อ เนื่องจากปัจจุบัน มีสินค้ามากมายที่ไม่มีฉลาก ไม่ทราบว่า เครื่องครัวนั้น มีส่วนประกอบวัสดุอย่างไร มีคำเตือนอย่างไร เหมาะกับการใช้งานแบบไหน

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาวิธีใช้งาน เช่น การใช้เครื่องครัวที่เป็นอลูมิเนียม , เครื่องครัวที่เป็น เทฟล่อน , เครื่องครัวที่เป็นพลาสติก ซึ่งต้องใช้ตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง  รวมทั้ง ความเก่าของเครื่องครัว  ระยะเวลาที่ใช้ การใช้กับไฟแรง การใช้กับประเภทน้ำมัน หรืออาหารที่มีความเป็นกรดกับ เครื่องครัวที่เป็นพลาสติกหรืออลูมิเนียม 

ดังนั้น เราควรมาทำการสำรวจเครื่องครัวกันเถอะว่า มีชิ้นใดที่ควรเปลี่ยน ชิ้นใดที่ควรทิ้งไปแบบกำจัดไม่ให้มีการนำไปใช้ต่อ หรือ ชิ้นใดที่เปลี่ยนวิธีใช้ เบื้องต้น ควรสำรวจก่อนว่า เครื่องครัวที่ใช้อยู่แต่ละอย่าง เป็นยี่ห้ออะไร ตอนซื้อมามีฉลากหรือไม่ คุณภาพเป็นอย่างไร ซื้อมานานหรือยัง ใช้บ่อยแค่ไหน, ใช้กับไฟแรง, มีการล้างแบบไหน, ตะหลิวหรือ ทัพพีใช้แบบไหน จากนั้น มาสำรวจสภาพของแต่ละชิ้น คือ

ประเภทหม้อ กระทะที่เคลือบด้วย เทฟล่อน สำรวจดูสภาพ เช่น มีรอยขูดขีดภายในกระทะหรือไม่ มีรอยไหม้ดำที่ก้นกระทะหรือไม่ หากมีรอยขูดขีด หรือมีรอยไหม้ดำ ต้องทิ้งไป ห้ามนำมาใช้ แม้ว่า เราจะซื้อมาไม่นาน แต่เมื่อสภาพเป็นเช่นนี้ จะมีอันตรายจากการสลายของสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของเทฟล่อนปะปนในอาหาร

ประเภทหม้อ กระทะ ,กระทะปิ้งย่าง ที่เป็นอลูมิเนียม มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก สํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัย ร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มเก็บตัวอย่างแผ่นกระทะย่างอลูมิเนียมจากแหล่งจําหน่ายตามท้องตลาดและห้างสรรพสินค้า จํานวน 6 ตัวอย่าง เมื่อปี 2555  ตรวจสอบสารปนเปื้อนของโลหะหนักจากการได้รับความร้อนสูงในการปิ้ง ย่าง พบว่ามีการปนเปื้อนของอลูมิเนียมสูงถึง 333.9 mg/l ซึ่งตามมาตรฐานEU กําหนดให้บริโภคอลูมิเนียมสูงสุดต่อสัปดาห์อยู่ที่ 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักผู้บริโภคต่อสัปดาห์  นอกจากนี้ สคบ.ยังได้ทําการตรวจสอบฉลาก พบว่า ฉลากไม่ถูกต้องโดยไม่มี รายละเอียดของผู้ผลิต หรือวิธีการใช้รวมถึงคําเตือน และข้อแนะนํา (http://www.ocpb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=3486)

ดังนั้นกระทะ หรือกระทะปิ้งย่างที่ทำมาจากอลูมิเนียม ควรสำรวจว่า แต่เดิม ซื้อมามีฉลากหรือไม่ คุณภาพเป็นอย่างไร ใช้งานอย่างไร จากนั้นมาสำรวจสภาพ มีรอยปุ่มปรุๆ หรือไม่ ก้นกระทะดำไหม้หรือไม่ การขัดถูอย่างแรงๆ มีรอยขูดขีด แม้ว่าจะสะอาด แต่การมีรอยขูดแรงๆ ก็ทำให้สารเคมีอลูมิเนียม ปะปนมาในอาหาร  ดังนั้น ควรทิ้งไป ไม่ควรใช้ และใช้ความพิถีพิถันในการซื้อใหม่ ต้องระวังอย่าซื้อของที่ไม่มีฉลาก ซึ่งปัจจุบัน มีขายอยู่ทั่วไป มีราราถูกมาก ทำให้เราอาจคิดว่าไม่เป็นไร แต่ในความเป็นจริง เลือกซื้อต้องเลือกให้ดี เวลาใช้ก็ใช้ให้ถูกวิธี ถ้าใช้นาน มีรอย ไหม้ดำ ต้องทิ้ง ทุกอย่าง ต้องมีอายุตามสภาพ ไม่ใช่จะใช้ตลอดจนกว่าจะพัง

วันนี้ ควรสำรวจเครื่องครัว โดยเฉพาะหม้อ กระทะ กระทะปิ้งย่าง ทั้งในบ้านและร้านอาหาร  เพื่อสุขภาพของเรา และลูกค้าของท่าน

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected],www.smileconsumer.com