Home ผู้บริโภค สิทธิผู้บริโภค “ผงชูรส หรือผงปรุงรส” ปัญหาสุขภาพและวัฒนธรรมอาหาร

“ผงชูรส หรือผงปรุงรส” ปัญหาสุขภาพและวัฒนธรรมอาหาร

0

หากจะถามว่า “งดดีไหม” สำหรับผงชูรส หรือผงปรุงรส ก็ต้องตอบว่า “ดี ถึง ดีมากมาก”

         ดีอย่างไร?

          ดีต่อสุขภาพ ดีต่อการลดรายจ่ายและดีต่อการแก้ไขความเคยชินหรือค่านิยมผิดผิดในการปรุงอาหาร

       

           เพราะแม้ว่า ผงชูรสจะมีการโฆษณาว่า ทำมาจากธรรมชาติ 100 % แต่แท้ที่จริงแล้วในกระบวนการผลิตมีการใช้สารเคมีตั้งแต่กระบวนการหมัก  การแปรรูป การฟอกสี  ซึ่งมีการใช้สารเคมีทุกขั้นตอน จึงถือว่า เป็นการโฆษณาที่กล่าวอ้างสร้างความเชื่อถือว่าไม่เป็นพิษเป็นภัย

         ส่วนผงปรุงรส แม้จะมีโฆษณาว่าทำมาจากเนื้อหมู หรือไก่ หรือเครื่องเทศที่คัดสรรแล้ว ไม่ว่าอย่างไร ข้อเท็จจริงคือ  มีส่วนผสมของกลุ่มผงชูรส สารสังเคราะห์ปรุงรสและทุกอย่างผ่านขั้นตอนของการผลิตในระบบอุตสาหกรรม  ดังนั้นการกล่าวอ้างถึง ประโยชน์ จึงเป็นการโน้มน้าวใจเชิงการค้า

           ผงปรุงรส หรือก้อนปรุงรส ,ผงชูรส ที่มีออกมามากมายหลายยี่ห้อ และมีกลยุทธ์การขายต่างๆนานา ที่ทำให้สังคมเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการทำอาหาร “ไม่ใช่รสมือ” หากคือ “ผงปรุงรส” เท่านั้นที่ทำให้อาหารอร่อย ทำให้เกิดค่านิยม พึ่งพา ผงปรุงรส ไม่เชื่อในรสมือ ไม่มั่นใจว่าจะอาหารอร่อย ดังนั้น ต้องซื้อต้องใช้ผงปรุงรส  และน่าเป็นห่วงสำหรับฝีมือและภูมิปัญญาอาหารที่จะถ่ายทอดการทำอาหารให้ลูกหลาน นับวันยิ่งสูญหายไปเรื่อยๆ เพราะในที่สุดก็จะไปจบลงที่ ใช้ “ผงปรุงรส-ผงชูรส”

             

              ในรายการทำอาหาร ที่เราดูในโทรทัศน์ ก็เช่นกัน ล้วนคือการโฆษณาสินค้า ปรุงแต่งรสอาหารเกือบทั้งสิ้น

นอกจากผลิตภัณฑ์ผงชูรสหรือผงปรุงรสโดยตรงแล้ว เรายังได้รับจากเครื่องปรุงอื่นๆที่มีส่วนผสมของผงชูรสและผงปรุงรส อีกมากเช่น

1            กลุ่มเครื่องปรุง เช่น  น้ำมันหอย ซีอิ้ว ซอสถั่วเหลือ ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ผงกรอบ ผงเนื้อนุ่ม ฯลฯ

2            กลุ่มอาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่สำเร็จรูป โจ๊กสำเร็จรูป ปลากระป๋อง อาหารกระป๋อง ฯลฯ

3            กลุ่มอาหารแปรรูปอื่นๆ เช่น ไส้กรอก แฮม หมูยอ หมูหยอง ฯลฯ

4            กลุ่มขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบ เช่น ประเภทมันฝรั่งทอด มันฝรั่งอบ สาหร่าย ฯลฯ

5            กลุ่มอาหารปรุงสำเร็จ อาหารจานด่วน พิซซ่า อาหารใส่ถุง อาหารตามสั่ง ฯลฯ

          จะเห็นว่า อาหารในแต่มื้อ ขนมในแต่ละซอง เราจะได้รับกลุ่มผงชูรสหรือผงปรุงรสอยู่เสมอ  ผลเสียต่อสุขภาพ นอกจาก ความเค็ม การตกค้างของสารเคมีในขบวนการผลิต ฤทธิ์หรืออาการแพ้ แล้ว ยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงผลเสียต่อสุขภาพ แต่ในขณะเดียวกันในเชิงการค้า ก็ยังเป็นสินค้าที่ทำให้เกิดการติดรสชาตอาหาร นั่นหมายความว่า สามารถสร้างความต้องการที่จำเป็นให้เกิดการซื้ออย่างต่อเนื่อง ซื้อประจำ ขาดไม่ได้

           แม้ว่ากฎหมายจะไม่ห้าม เพียงให้แสดงฉลาก และกำหนดปริมาณ แต่เราในฐานะผู้บริโภค ควรรู้เท่าทันถึงผลที่เกิดขึ้น ไม่ว่าต่อสุขภาพ ค่านิยมความเคยชิน ผลต่อระบบอาหาร และค่าใช้จ่าย         

           

                    และที่สำคัญคือ ทำให้มีการกินเยอะ กินบ่อย และไม่มีทางเลือกสำหรับผู้บริโภค  ที่อาหารส่วนใหญ่ใส่ผงชูรสหรือผงปรุงรส  จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะอ้วนตามมา

          ดังนั้น เราควรหลีกเลี่ยง หรือ “งด” ผงชูรส หรือผงปรุงรส หรือหากงดไม่ได้ ควรใช่แต่น้อย เพราะนอกจากเรื่องสุขภาพ และค่าใช้จ่าย ยังส่งผลถึงภาวะค่านิยมด้านอาหาร  และปัญหาด้านวัฒนธรรมอาหารของไทยเรา

                ขอให้ร้านอาหารได้ร่วมตระหนักถึงปัญหานี้ด้วยการลด เลี่ยง หรือไม่ใช้ผงชูรส หรือผงปรุงรส ส่วนการทำอาหารเอง ควรอ่านฉลากเครื่องปรุง ก่อนซื้อ เพื่อให้เราสามารถลดปริมาณกลุ่มผงชูรสได้ และสำหรับการกินขนมกรุบกรอบของเด็กๆควรให้อ่านฉลาก และลดปริมาณการกิน แม้ว่าอาจทำได้ยาก แต่ก็ควรเริ่มต้นให้เด็กๆได้เรียนรู้  เพราะเคยมีกรณีตัวอย่างเด็กที่กินขนมกรุบกรอบมาก กินซองใหญ่ กินบ่อย แล้วส่งผลถึงโรคไต ,โรคอ้วน,ปัญหาฟันซึ่งขนมกรุบกรอบเป็นกลุ่มแป้งที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพฟัน และการขาดสารอาหาร

        ผงชูรส หรือผงปรุงรส ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพและวัฒนธรรมอาหาร จึงควรลด เลี่ยง และงดใช้ หันมาสนับสนุนและศึกษาหาความรู้จากการทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพ  ได้รสอร่อยจากธรรมชาติ และอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านอาหารของเรา

© สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

bangpun@yahoo.com

หมายเหตุ

ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 13 กันยายน 2554 หน้า 7