น้ำใจ๋-น้ำใจ

0

“น้ำใจ๋” ในภาษาคำเมือง หมายถึง “น้ำใจ” เมื่อแปลเป็นภาษาไทย แต่ในความเป็นจริง วิถีคนเมืองล้านนา ความหมายของคำว่า “น้ำใจ๋”จะรวมถึงประเพณีและวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกัน การทำกิจกรรม ความร่วมมือร่วมใจกับงาน “หน้าหมู่” คนมีน้ำใจ๋ หมู่บ้านใดมีน้ำใจ๋ จึงเป็นความกลมกลืนที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

 

“หายากเน่อ คนบ่าเดี่ยวบ่ามีน้ำใจ๋”  คำนี้เรามักได้ยินได้ฟัง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน การแสวงหาน้ำใจ จึงเห็นได้ในระดับใกล้ตัว ยาวไกลถึงสังคมออนไลน์ “น้ำใจ๋” มีความสำคัญมาก

งานบุญ งานประเพณี งานมงคล  เช่น งานปอย งานปอยหลวง งานบุญ งานขึ้นบ้านใหม่ จะเห็นชาวบ้านมาช่วยดาครัว ช่วยงานวัด  กลุ่มแม่บ้านมาช่วยกันทำอาหาร แป๋งเครื่องครัวตาน คนเฒ่าคนแก่ พากันมาช่วยกันทำ สวยดอก ห่อข้าวหนม ผู้ชายก็มีงานที่เหมาะสำหรับผู้ชาย ไม่มีใครบอกใครเป็นเรื่องเป็นราว เวลามีงานเป็นอันรู้กันว่า ใครจะทำอะไร ใคร “จ้าง-ช่างทำ” อะไร อาจมีการเอิ้นบอก ประสานงาน นัดกัน เตรียมกันเล็กน้อย พอถึงเวลาลงมือ ก็ช่วยกัน เป็น “น้ำใจ๋”

แต่หากว่า บ้านเขามีงาน เราไม่ไป บ้านมีงาน บางทีก็อาจไม่มีคนมาช่วย สังคมชาวบ้านก็จะรู้ทั่วว่า ใครมีน้ำใจ ใครไม่มีน้ำใจ แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่าใครไม่มีน้ำใจไม่มีการตอบแทน เพราะในสังคมบ้านเรา การช่วยกันถือเป็นเรื่องของความเมตตา การช่วยเหลือค้ำจุนกัน ดังนั้น แม้บางบ้าน อาจไม่โอกาสไปช่วยใครเขา ด้วยสาเหตุใดก็ตาม ชาวบ้านอื่น ก็ยังคงมาช่วยเหลือกันและกัน การเกิดของน้ำใจจึงเป็นเหมือนโซ่ต่อเนื่องกันไป ไม่ว่าน้ำใจจะเริ่มเมื่อใด ล้วนเสริมส่งกันในสังคมให้เป็นสุข

การตอบแทนน้ำใจให้กัน นอกจากความเป็นเครือญาติแล้ว หรือการตอบแทน แบบเอามื้อ “ส้ายมื้อกั๋น”และมีการช่วยกันในลักษณะของให้ความร่วมมือ รณรงค์ประกาศแจ้งบอกกัน ส่วนงานศพ ก็เช่นกัน การให้ความเคารพ การให้น้ำใจในการช่วยเหลือกัน จัดงานศพ ไปช่วยห่อขนม ดาครัว นอกจากนี้ ก็จะมีการหน้าหมู่อื่นๆ เช่น ช่วยกันทำฝาย ช่วยกันทำแนวกันไฟ หรือเรื่องในชีวิตประจำวัน เช่น ช่วยกันเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ช่วงนี้ขโมยเยอะ เป็นต้น

“น้ำใจ”ยุคใหม่ ในงานบุญอาจไม่เข้มข้นคึกคักเท่าสมัยก่อน แต่ก็ยังคงเป็นวิถีที่สืบต่อๆกันมา ช่วงนี้หน้างานปอยหลวง ก็ส่งข่าวให้กัน ไปร่วมงานบุญปอยหลวงกัน  เวลาคนเฒ่าคนแก่ไปช่วยงานบ้านใด ไปงานปอยที่ไหน ก็ชวนลูกหลานไปด้วย ก็ได้รู้ได้เห็นสืบต่อกันมา แต่ปัญหาในหมู่บ้านทั่วไปปัจจุบันคือ ลูกหลานไม่ได้อยู่บ้าน ไปเรียนหนังสือ ไปทำงาน ไปมีครอบครัวที่อื่น 

น้ำใจเป็นสิ่งสำคัญ เรากำลังเรียกร้องน้ำใจบนท้องถนน น้ำใจในการเดินทาง น้ำใจในการทำงาน น้ำใจในช่วยเหลือสังคม ถ้าลดความเห็นแก่ตัว น้ำใจก็จะเกิดขึ้น ความปิติของผู้ให้น้ำใจกับผู้รับ เกิดขึ้นโดยพลัน

ไม่ว่า รูปแบบของน้ำใจ จะแสดงออกอย่างไร การช่วยกัน การให้สิ่งของ การไปเยี่ยม การทักทาย การไปมาหาสู่ ล้วนถือเป็นน้ำใจที่แทรกซึมไปในจิตใจของคนเรา มีพลังให้ก่อเกิดความหวัง มีกำลังใจ

“น้ำใจ๋”ที่สำคัญอีกเรื่องคือ การไปแอ่ว ไปเยี่ยมผู้ป่วย ซึ่งปกติชาวบ้านเราจะบอกต่อกัน หรือลูกหลานของผู้ป่วยมาบอกญาติ หรือคนสนิท เป็นการให้เกียรติกัน พอทราบข่าวก็จะไปเยี่ยม ไปหา บางคนลงมือทำอาหารที่ผู้ป่วยชอบไปให้ มีข้อแนะนำ มีคำพูดอวยพรให้กำลังใจ ถามไถ่อาการ ไปแอ่วหา ไปนั่งเป็นเพื่อน บางทีก็สังเกตว่า เขาขาดแคลนอะไร ก็อาจหาลู่ทางช่วยเหลือ หรือมีการบอกต่อคนอื่นเผื่อใครพอมีกำลังจะช่วยกัน

สำหรับผู้ป่วยแล้ว ร่างกายที่เจ็บป่วย แม้ว่าจะรับการรักษาโดยแพทย์เป็นหลัก แต่การได้รับการดูแล จากคนในครอบครัว จากเพื่อนบ้านญาติมิตร คือกำลังใจใหญ่หลวง  จิตใจที่อ่อนล้า กับสภาพความเจ็บป่วย กำลังใจ จากน้ำใจคนรอบข้าง เป็นพลังสำคัญสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ

หลายครั้งที่เราเห็นสื่อต่างๆนำเสนอเรื่องราวที่น่าสงสาร เราต่างก็รับความรู้สึกนั้นและหลั่งไหลช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ เพียงแต่เราต้องไม่ใช้ความสงสารนำทุกเรื่อง เพราะในสังคมออนไลน์มีการหลอกลวงด้วยรูปแบบสารพัด

แม้ว่าการพึ่งตนเองจะเป็นพื้นฐานของชีวิต แต่น้ำใจก็เป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงทั้งผู้ให้และผู้รับ และหากมีน้ำใจให้กัน บางเรื่องก็สามารถป้องกันได้ โดยไม่ลุกลามเป็นเรื่องใหญ่โต น้ำใจ๋-น้ำใจเป็นวิถีธรรมชาติของจิตใจและการอยู่ร่วมกัน ต้องสร้างน้ำใจและรักษาความมีน้ำใจไว้ ซึ่งเราสามารถแสดงออกให้กันและกันได้ทุกวัน หากเราละเว้นไม่สนใจรับไม่สนใจให้ วันหนึ่งเราอาจสูญเสียน้ำใจที่เป็นพลังชีวิตทั้งต่อตัวเราเอง ต่อคนในครอบครัวหรือคนอื่นๆในสังคม 

© สุภฎารัตน์