ระวังเล่ห์ ซื้อ1แถม1 ถ้ามีปัญหาต้องร้องเรียน

0
3071

“เราดูแล้วนะ ว่า ของที่เราซื้อเป็นแบบซื้อ1 แถม1 แต่พอไปคิดราคา กลับคิดเต็มเป็นสองชิ้น นี่ถ้าไม่ทักท้วงคงแย่ …” นี่เป็นอีกเสียงที่ร้องเรียนมา เรื่องของแถม ประเภทซื้อ1 แถม1

 

รามาดูกันว่า มีรูปแบบการขายอย่างไรที่ผู้บริโภคต้องเอาใจใส่ก่อนตัดสินใจซื้อ

1)   ดูป้ายโฆษณา ถ้าเป็นป้ายขนาดใหญ่ จะสร้างความสนใจได้มาก แต่จะไม่ค่อยมีรายละเอียดของสินค้า และไม่ค่อยมีรายละเอียดว่า เป็นการแถมแบบไหน ขนาดหรือรุ่นเดียวกันไหม ซึ่งที่จริงแล้ว ตามกฎหมายต้องระบุให้ชัด หรือแสดงข้อความให้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ และอีกประการหนึ่งคือถ้าไม่ระบุ ก็เป็นนัยยะแสดงว่า เป็นของแถมด้วยสินค้าแบบเดียวกันทุกประการ ซึ่งขึ้นอยู่กับความจริงใจของผู้ประกอบการด้วย ดังนั้น ผู้บริโภคเมื่อพบเห็นและสนใจจะซื้อ ต้องอ่านให้ดี หรือสอบถามเรื่องรายละเอียดก่อนซื้อ

 

2)   ดูจากโบว์ชัวสินค้า   แคตตาล๊อก ใบปลิว แผ่นพับ หรือการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดให้ครบ ดังนั้น เราต้องอ่านให้ดี เพราะมักใช้อักษรใหญ่ๆ ว่า แถม หรือ ซื้อ1 แถม 1 แต่กลับมีการใช้ตัวอักษรเล็กๆ ในรายละเอียด  ว่า แถมรุ่นไหน อย่างไร ทั้งนี้ ทุกรายการจะต้องมีรายละเอียดตรงกับป้าย ณ จุดขาย หรือจุดวางสินค้าด้วย

 

3)   จากสื่อโฆษณาอื่นๆ เช่น การโฆษณาในโทรทัศน์ วิทยุ หรือ มีการโฆษณาในร้านหรือในห้าง ด้วยเสียงตามสาย หรือด้วยทีวีวงจรปิดในร้าน นอกจากนี้ ยังมีการโฆษณาในรูปแบบสื่อออนไลน์  หรือการโฆษณาในลักษณะของข่าว

 

4)   การโฆษณาระบบสมาชิก หรือการใช้สิทธิระบบสมาชิก วิธีนี้ ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกของร้านนั้นต้องระวัง เพราะ เราจะพบรายละเอียดเมื่อเราไปอ่าน ณ จุดจำหน่าย

 

5)   การโฆษณา ณ จุด หน้าห้าง หรือหน้าร้าน ซึ่งมักจะทำให้เราแวะร้านนั้นๆ โดยไม่ตั้งใจจะไปซื้อแต่แรก หากพอผ่านร้าน เราเห็นป้ายสดุดตา ก็แวะเข้าไปดู

 

นี่เป็นตัวอย่างของ รูปแบบการโฆษณา “แถม”   ซึ่งเรามักจะคิดว่า “คุ้ม”มาก แต่ก็มีไม่น้อย ที่ซื้อไปแล้ว ของแถม ไม่ใช่ของที่ต้องการ ไม่ใช่ของชนิดเดียวกัน ไม่ใช่ขนาดเดียวกัน และบางครั้ง ยังมีการคิดราคาผิดอีกต่างหาก  

สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ผู้บริโภคควรรู้ คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องการโฆษณา หรือการขายลักษณะของแถม  เป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะ การควบคุมโฆษณา ฉลากและสัญญา ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

ดังนั้น ทางออกของผู้บริโภค ควรเป็นเช่นไร 

1                   ต้องรู้ว่า การโฆษณา ต้องไม่เป็นเท็จ ไม่หลอกลวง ไม่สร้างความเข้าใจผิด

2                   ต้องรู้ว่า ป้าย โบว์ชัวสินค้า   แคตตาล๊อก ใบปลิว แผ่นพับ การโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ฯลฯ  ถือว่า เป็นสัญญา ที่ผู้ประกอบการต้องทำการตามนั้น ต้องขายตามนั้น 

3                   ผู้บริโภค ต้องใส่ใจในรายละเอียด ในเงื่อนไขต่างๆ ต้องรู้เท่าทัน และระวัง เล่ห์กล ในเงื่อนไข เช่น “ขอสงวนสิทธิ์ไม่แจ้งล่วงหน้า กรณีสินค้าหมด หรือมีการเปลี่ยนแปลง” “จำกัดจำนวน…….เท่านั้น”  เป็นต้น  ซึ่งถือว่าเป็นข้อความที่อาจเป็นเล่ห์เหลี่ยม หลีกเลี่ยงให้ข้อมูลจริง หรืออาจหลีกเลี่ยงความรับผิดตามกฎหมาย หากมีปัญหา

4                   ผู้บริโภค ต้องดูให้ดี ที่จุดจ่ายเงิน ก่อนออกจากร้าน ตรวจบิลอีกที และต้องร้องเรียน ทักท้วงทันที ต่อห้างหรือร้านนั้นๆ เมื่อพบเห็นว่า มีการขาย การแถมที่ไม่ตรงกับโฆษณา  หากไม่ได้ผลในการทักท้วงที่ร้าน ร้องเรียนต่อ สคบ. หรือองค์กรผู้บริโภค หรือองค์กรส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆ  หรือร้องเรียน แจ้งข่าว ต่อสื่อมวลชน เพื่อกระจายข่าวไม่ให้ผู้บริโภครายอื่นต้องตกเป็นเหยื่อ 

5                   ต้องระวังการซื้อด้วยการตัดสินใจเร็วไป เพราะกลยุทธ์ขายแถมมักจะทำให้เราขาดความรอบคอบ มีบ่อยครั้งที่มีการตั้งราคาที่สูงขึ้นกว่าปกติ แล้วติดป้ายลดราคาชนิดครึ่งต่อครึ่ง หรือซื้อ 1 แถม 1  ซึ่งก็ทำให้ผู้บริโภคหลายคนต้องช้ำใจทีหลัง จากการที่มาดูราคาต่อชิ้นในการขายปกติ

 

ผู้บริโภค จึงต้องเอาใจใส่ ในรายละเอียด ใช้สิทธิผู้บริโภค อย่าคิดว่า เรื่องเล็กน้อย ช่างมันเถอะ เพราะคนอื่นอาจเจอเช่นเรา ห้างหรือร้าน ก็คงลอยนวล ปล่อยปัญหานี้ซ้ำซาก ไม่แก้ไข

ร้านใด ห้างใด ส่อแววมีเล่ห์เหลี่ยม อย่าสนับสนุน อย่าซื้อและช่วยกันเปิดโปง

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]