ระวังอันตราย!!กาแฟลดอ้วนนำเข้าจากชายแดน

0
1400

สินค้าจากชายแดนที่เข้ามาขายในไทย มีมากมายเหลือจะนับ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ผลิตภัณฑ์ลดอ้วน ที่ มีการนำมาบรรจุด้วยหีบห่อสวยงาม มีภาษาไทย แต่ผิดกฎหมาย และมีอันตราย จากการเปิดเผยของ อย.และสำนักงานสาธารณสุขเชียงใหม่ ที่มีการตรวจจับและดำเนินคดีกับผู้ขาย

บางคนอ้วนจริงอยากลดอ้วนโดยไม่ต้องออกกำลังกาย ไม่ต้องควบคุมอาหาร  แต่บางคนไม่อ้วน ซื้อมากิน เพราะต้องการลดขา ลดน่อง ลดแขน หรือลดทั้งตัว เพราะอยากผอมมากๆเหมือนนางแบบ

มีการขายตามตลาดนัด ร้านขายของชำ ขายโดยการบอกต่อ  มีการโฆษณาต่อๆกันว่า จะช่วยเผาผลาญไขมัน ลดอ้วน แล้วบางคนบอกว่าลดได้จริงๆ ยิ่งบอกว่าลดได้จริงยิ่งอันตราย เพราะแสดงว่ามีการลักลอบใส่ไซบูทรามีนในกาแฟ

สารไซบูทรามีน เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ห้ามซื้อขายในร้านขายยาโดยไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์ กลไกการออกฤทธิ์ของยาจะส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น กระตุ้นการเผาผลาญของร่างกายได้ แต่มีผลข้างเคียงรุนแรง โดยทำให้ร่างกายขาดน้ำ ใจสั่น ความดันโลหิตสูง ซึ่งหากรับประทานมากอาจบีบหัวใจจนถึงขั้นเสียชีวิต และในทางการแพทย์ การใช้ไซบูทรามีนโดยไม่ปรับอาหารการกิน ไม่ออกกำลังกาย ก็จะกลับมาอ้วนได้ ดังนั้นภาวะอ้วนทั่วโลกจึงเป็นปัญหาใหญ่ เพราะอาหารการกิน การใช้ชีวิตและค่านิยมชอบสะดวกสบาย ไม่ออกแรงไม่ออกกำลังกาย

 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร,กาแฟ,เครื่องดื่มใดก็ตามที่มีการโฆษณาลดอ้วน โดยไม่มีเลขทะเบียนอาหาร หรือไม่มีเลขที่อนุญาตผลิต แม้จะมีภาษาไทย ก็อย่ากิน อย่าซื้อมาดื่ม อย่าซื้อมาให้คนอื่น อย่านำมาขาย เพราะอันตรายมาก

เนื่องจากหากมีใส่ไซบูทรามีนลงไป ดื่ม 1 แก้ว ก็จะได้รับ สารไซบูทรามีน 1 ปริมาณ หากเพิ่มการดื่ม ดื่มบ่อย ดื่มมาก ดื่มติดต่อกัน ก็ยิ่งทำให้ได้รับสารไซบูทรามีนมากขึ้น อันตรายก็มากขึ้น ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก และมีความเป็นอันตรายมากขึ้นหากผู้ใช้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน  หญิงตั้งครรภ์ และมารดาที่ให้นมบุตร 

การคุ้มครองผู้บริโภคไทย มีกฎหมายรองรับ มีหน่วยงานดำเนินงานและมีองค์กรผู้บริโภค ดังนั้นเราในฐานะผู้บริโภค ควรรับทราบกฎหมายไทย ว่ามีการกำกับดูแลอย่างไรบ้าง และเราในฐานะผู้บริโภคควรมีสิทธิมีหน้าที่อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าอันตรายเหล่านี้มีขาย มีการกินมีการซื้อ

ประการแรก เราต้องรู้กฎหมาย ว่ากาแฟคือเครื่องดื่ม ที่กำหนดอยู่ใน พรบ.อาหาร ที่ต้องมีการควบคุมผลิต การขาย มีมาตรฐาน มีข้อห้าม มีคำเตือน และทำตามกฎหมายไทย ว่าต้องมีฉลากที่ให้ข้อมูลครบถ้วนตามกฎหมายกำหนดทุกประการ กรณีของกาแฟที่มีการจับกุมและตรวจสอบว่าพบสารไซบูทรามีนนั้น มี่ข้อสังเกต เช่น มีฉลาก ภาษาไทย มีข้อความว่า สำหรับคนดื้อ(และมีวงเล็บว่าลดยาก) ซึ่งเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง กาแฟตามมาตรฐานไม่สามารถลดอ้วนได้, มีเครื่อง GMP มีเครื่องหมาย ISO…ทำให้คนหลงเชื่อ แต่พอดูให้ดีดี จะพบว่าไม่มีเลขทะเบียน อาหาร หรือ อย. ของไทย ซึ่งนี่คือหลักฐานสำคัญว่า สินค้านี้ได้ผลิตถูกต้องหรือไม่ เราจึงควรให้ครบ อย่ามองแค่ว่า มีภาษาไทยก็พอแล้ว พอปัจจุบัน การทำหีบห่อสวยงาม มีข้อความต่างๆ มีเครื่องหมายต่างๆ สามารถทำได้ง่าย จึงต้องอ่านอย่างมีสติ

ประการที่สอง อย่าซื้อมากิน อย่าซื้อฝากคนอื่น อย่าคิดว่า กินแล้วพอลดก็จะหยุด เพราะเรากำลังเสี่ยงอันตราย  สิทธิผู้บริโภคกล่าวไว้ สินค้าทีเราซื้อเราใช้ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ประการที่สาม ช่วยแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ว่าพบเห็นขายที่ไหน หรือแจ้งที่องค์กรผู้บริโภคก็ได้ จะได้ช่วยกัน หรือถ้าไม่รู้จะแจ้งใครก็แจ้ง อย.โดยตรง

          สำหรับผู้ขาย มีความผิดตามกฎหมาย ไม่ว่า ท่านจะขาย ณ ที่ใด ดังนั้น เราควรช่วยกัน ท่านผู้ขายก็เป็นผู้บริโภค ท่านก็ซื้ออย่างอื่นมากินมาใช้ ท่านก็อยากได้ของดีมีคุณภาพ ไม่มีอันตราย ดังนั้น เมื่อท่านเป็นผู้ขาย ก็ควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา  

          กาแฟลดอ้วน ที่อันตรายเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างสินค้ามากมายหลายชนิด ที่พร้อมจะมีการโฆษณาหลอกลวง พร้อมจะแอบขาย แอบใส่สารเคมีผิดกฎหมาย ดังนั้น การมีความรู้และความเข้มแข็งของผู้บริโภค จึงเป็นหลักสำคัญ เพราะมีตัวอย่างไม่น้อยที่มีการจับ ก็จะมีการเปลี่ยนกล่องใหม่ ตั้งชื่อสินค้าใหม่ วนเวียนเช่นนี้ เราต้องหยุด ในฐานะผู้บริโภคที่ต้องใช้สิทธิว่า สินค้าที่เราใช้ต้องปลอดภัย คุ้มค่าและมีประโยชน์

          ภาวะโรคอ้วน และความกลัวอ้วน อยากสวยแบบผอมๆ เป็นกระแสและเป็นปัญหาที่มีอยู่จริงในสังคม หากเราหวังสบาย ลดอ้วนไม่ต้องควบคุมอาหารลดอ้วนไม่ต้องออกกำลังกาย เราก็มีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์เหล่านี้  ควรเริ่มต้นตั้งสติ  ในการควบคุมอาหาร การเข้าใจเรื่องของอาหาร เวลาที่กิน ปริมาณที่กิน และการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ คือหลักการช่วยเสริมสร้างสุขภาพ

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]