เมื่อเป็นหวัดต้องใจเย็นๆ (จบ)

0
881

โรคหวัดทั่วไป จะรักษาตามอาการ แต่ที่มีปัญหาเพราะการใช้ยา ดังนั้นเราลองมาดูเหตุผลในการใช้ยาผิด หรือใช้ยาพร่ำเพรื่อว่า มีเรื่องใดบ้าง  

 

                      ความกลัว  กลัวเป็นมาก กลัวหายช้า  หรือเผื่อไว้ก่อน    ใจร้อน อยากหายเร็ว กินยาหลายๆชนิด ซื้อยาหลายๆชนิด ไปหาหมอหลายๆแห่งโดยที่ยาเดิมยังไม่หมด มีความเชื่อผิดๆว่า ถ้ากินยามาก  จะหายเร็ว ทำไมไม่หายสักที ซื้อยามากินใหม่ดีกว่า กินยาแพงดีกว่า ซื้อยาแรงๆดีกว่า ไปหาหมอใหม่ดีกว่า ฯลฯ

                       ความเชื่อว่า ต้องกินยาแก้อักเสบเท่านั้นจึงจะหาย ซึ่งที่จริงเป็นความเชื่อที่ผิด และมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประเภทของยา

                        ความไม่เข้าใจโรคหวัด ไม่ได้แยกแยะอาการ ว่าที่จริงเกิดจากไวรัส ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งความไม่เข้าใจนี้ส่งผลต่อเนื่องถึงการใช้ยาผิด ต้องแก้ไขความรู้ใหม่ ว่า ยาแก้อักเสบ (ยาต้านการอักเสบ Anti-inflammatory drugs) เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดไข้ แก้ปวด ลดบวมอักเสบ   แต่ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ตัวอย่างเช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ส่วนยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์แก้อักเสบโดยตรง ตัวอย่างเช่น เพนนิซิลลิน อะม็อกซีซิลลิน  ซึ่งยาปฏิชีวนะ ต้องกินยาให้ถูกต้องกินให้ครบตามคำสั่งของแพทย์หรือเภสัชกร ยกเว้น กรณีที่มีอาการของการแพ้ยา

มีขายยาไม่ถูกต้อง ซื้อยาไม่ถูกต้อง  กรณีนี้เราซื้อยากินเองที่ร้านยา ผู้ซื้อต้องการยาอย่างไร ผู้ขายก็ขายอย่างนั้น กระทั่งว่า แม้ผู้ซื้อจะระบุประเภทยาผิดว่า ต้องการซื้อยาแก้อักเสบ ผู้ขายซึ่งอาจไม่ใช่เภสัชกร ก็หยิบยาปฏิชีวนะขายให้ ซึ่งการซื้อขายลักษณะนี้ยิ่งไปเสริมการความเข้าใจผิดในการใช้ยา , การเรียกชื่อยาหรือประเภทยาและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษาหวัด

ไม่ได้ไปให้แพทย์ตรวจ หรือให้แพทย์ตรวจแต่เมื่อไม่ได้รับยาหลายขนาน ก็ไปซื้อยาเอง รู้สึกไม่มั่นใจเมื่อไม่ได้รับยาตามที่หวัง และบางคนเชื่อตามที่คนอื่นบอก ชื่อยาที่กินแล้วหาย โดยไม่ได้แยกแยะว่าอาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สาเหตุไม่เหมือนกัน และแม้กระทั่ง คนที่บอกก็อาจให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง  ไม่ได้หาข้อมูลที่ถูกต้อง

มุ่งแต่การใช้ยา เชื่อการใช้ยา โดยไม่สนใจว่า แท้ที่จริง โรคหวัดธรรมดา เป็นไวรัส ที่มีระยะการดำเนินของโรคที่ร่างกายสามารถต่อสู้ให้หายได้ คือ พักผ่อน รักษาร่างกายให้อบอุ่น รับประทานอาหารที่ประโยชน์ ย่อยง่าย ดื่มน้ำอุ่น น้ำขิง เป็นต้น  อีกเรื่องหนึ่งที่พึงระวังคือ การใช้ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาแก้แพ้ เพราะยาบางชนิดมียาสองขนานอยู่ในเม็ดเดียว เช่น มียาแก้ปวดลดไข้และมียาแก้แพ้  ดังนั้นหากเราไม่มีอาการคัดจมูก แต่มีอาการปวดหัวเป็นไข้ ก็อย่ากินยาประเภทสองขนานนี้ เพราะจะทำให้เราได้รับยาเกินมาหนึ่งขนาน หรือบางครั้งเราอาจได้รับยาชุด ก็ยิ่งเป็นอันตราย กรณีนี้นอกจากเราต้องปฏิเสธที่จะซื้อปฏิเสธที่จะกินแล้ว พบเห็นการขายยาชุดแก้หวัดที่ร้านใด ต้องร้องเรียนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

ความเชื่อว่า น้ำมูกข้น นั่นแสดงว่า เกิดการอักเสบแล้ว จะต้องกินยารักษาแก้อักเสบ ความเชื่อนี้ก็นำไปสู่การซื้อยากินเอง หรือไปพบแพทย์แล้ว ไม่ได้รับยา ก็จะแวะร้านยา หรือฝากคนอื่นซื้อยา ก็ยิ่งทำให้การใช้ยาผิดๆต่อๆกันไป หากเราไม่เข้าใจเพียงพอ เราอาจใจร้อน ในช่วงที่โรคหวัดกำลังหาย ซึ่งเป็นช่วงวันที่ 4-5 ของโรคหวัดในระยะใกล้หาย ปริมาณน้ำมูกจะลดลง แต่ลักษณะของน้ำมูกจะข้นขึ้น และอาจเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือเขียวโดยเฉพาะในตอนเช้า ซึ่งไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่เป็นลักษณะอาการของโรคหวัดตามปกติ จึงไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ

อาการของโรคหวัด มีหลายอาการ ดังนั้น หากมีอาการเกินเลยจากหวัดธรรมดา ต้องไปรับการตรวจจากแพทย์เท่านั้น อย่าวินิจฉัยโรคเอง เพราะอาการหลายอย่าง จะใกล้เคียงกันมาก ต้องตรวจและวินิจฉัยอย่างละเอียด จึงจะแยกอาการและรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรตัดสินอาการของตนเอง หรือคนในครอบครัว ด้วยความเชื่อผิดๆ ซึ่งจะยิ่งทำให้การใช้ยาในครอบครัว มีความเชื่อผิดๆตามๆกัน

ปัญหาจากการใช้ยาไม่ตรงกับโรคหวัด กินยาไม่ถูกต้อง กินยาเกิน กินยาไม่ตรงกับสภาพของผู้ป่วย ถือเป็นการกินยาที่เป็นโทษ เพราะจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยา

การกินยาปฏิชีวนะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่ว่า การซื้อยากินเอง, การฝากคนอื่นซื้อยา, ไม่เข้าใจการกินยา และบางคนกินไม่ครบ ปัญหาเหล่านี้ทำให้เราอาจแพ้ยาและเกิดเชื้อดื้อยา ฉลากกล่องยาปฏิชีวนะดูมีคำเตือนว่าเป็น “ยาอันตราย” และเตือนว่า   ยานี้อาจทำให้เกิดการแพ้ และอาจเป็นอันตรายถึงตายได้ เราควรเอาใจใส่คำเตือน และหากเรามีอาการแพ้ยาชนิดใด ต้องจดจำชื่อยานั้นและพกบัตรปันทีกการแพ้ยาประจำตัวเสมอ

โรคหวัดเกิดขึ้นได้ หากร่างกายเราอ่อนแอ ขาดความสมดุล หรือได้รับเชื้อไวรัสจากผู้อื่น ซึ่งอาการของโรคมีหลายอาการ ดังนั้น เราต้องใจเย็นๆ แยกแยะอาการ เพื่อดูแลรักษาตนเอง หรือเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ระวังความเชื่อผิดๆในการใช้ยา  

          แม้ว่าการเป็นหวัดเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องตระหนักว่า โรคหวัดเป็นโรคที่ต้องสังเกตอาการและเฝ้าระวังการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัด2009 ซึ่งต้องพบแพทย์ทันที อีกทั้งต้องติดตามข่าว หรือคำเตือน ในกรณีที่มีการระบาดของโรค

บทความโดย สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่ ๓ พฤษภาคม   ๒๕๕๔

อ้างอิง

http://newsser.fda.moph.go.th/rumthai/userfiledownload/asu136dl.pdf

http://th.wikipedia.org