ฟังเพลงเพลิน หลงคารมดีเจ เล่ห์กลต่อยอดโฆษณาเกินจริง

0
728

           “สวยใสปิ๊ง ในสามวันรับรองได้ ขอบอกกกกกกกกกก” “รักผู้ฟังทุกคน จึงเอาของดีดีมาบอกต่อกัน” “ไปหาหมอแล้วไม่หาย ไม่ต้องกังวล เรามีเคล็ดลับมาบอก”                “เอ๊า!! ใครใช้ได้ผล โทรมายืนยันหน่อยเร็วววว” “ใช้แล้วดี ช่วยบอกต่อๆๆกันด้วยน๊ะ จะได้มีสุขภาพดีทู๊กทุกคนนะจ๊ะ” “คุณ ก.. โทร จาก.. คุณ ข.. โทรจาก.. คุณ ค..โทรจาก..โอ๊ว นี่สวยใสกันถ้วนหน้าละซี…”

 

               นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของคารมดีเจ ที่เป็นเล่ห์ลวงของการโฆษณาเกินจริง ที่เราคุ้นเคยในรายการวิทยุ คุ้นเคยจนเรากลายเป็นคนต่อยอดโฆษณาเกินจริงเสียเอง เพราะเราไม่ทำอะไรเลย เราฟัง และฟัง จนที่สุด เป็นความเคยชิน เป็นการยอมรับ เป็นความเชื่อ โดยเราไม่รู้ตัว

                     แม้จะมีกฎหมายควบคุมโฆษณา  แต่ไม่กำกับดูแลได้ครอบคลุม และล่าสุด ปัญหาการโฆษณาเกินจริง ก็ได้นำไปสู่การเสนอเป็นวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะมีการประชุมปลายปีนี้

                   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการขับเคลื่อนในระดับกฎหมายและนโยบายแล้ว แต่หากผู้บริโภคเรายังไม่รู้ตัว ไม่หันมามองตนเอง ก็อาจจะไม่ได้แก้ไขปัญหาการโฆษณาเกินจริงหลอกลวง

                      

                เพราะหลักการสำคัญหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภค คือการคุ้มครองตนเอง และการรู้เท่าทันก็เป็นหลักสำคัญเบื้องต้น

                 เพราะหลุมพรางของผู้ประกอบการที่ผ่านสื่อโฆษณา ผ่านเสียงดีเจ ที่กระหน่ำเปิดเพลง พูดคุยขายสินค้าทั้งวัน เอาอกเอาใจบ้าง พูดให้น่ากลัวบ้าง พูดให้ลังเลบ้าง และลงท้ายด้วยการเสนอสินค้า แถมยังมีกลุ่มผู้ฟัง อีกจำนวนหนึ่งที่โทรมายืนยันว่า “ใช้แล้วได้ผล” ซึ่งจะเท็จจริงอย่างไรไม่รู้ ไม่มีใครรู้ว่า เป็นผู้ฟังตัวจริงหรือตัวปลอม หรือคือเครือข่ายขายสินค้า ของบริษัทนั้นๆ หรืออาจใช้ได้ผลจริงๆ แต่เป็นผลจากอะไร ปัจจัยอะไรอีกไหมที่มาเกี่ยวข้อง ไม่ได้เล่าข้อมูลอื่น หรืออาจเป็นเพียงกลไกให้เกิดความเชื่อ หาใช่ตัวตนของคนใช้ได้ผลจริงๆ

                        นอกจากนี้ ยังมีการเอาข้อมูลวิชาการ มาผสมผสานในการพูด ตบท้ายด้วย “มี อย.รับรอง” แถมมีลูกเล่น ลดราคาสำหรับการทดลองใช้ หรือเล่นเกมส์ตอบคำถามแล้วได้รับสิทธิสินค้าลองใช้

                                    สินค้ากลุ่มใดบ้าง ที่มักมีการโฆษณาเกินจริง ถ้าฟังจากโฆษณาบ้านเรา ก็จะพบว่า มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผลิตเสริมอาหารและเครื่องสำอาง

                        การโฆษณาก็จะอวดอ้าง กล่าวถึงสุขภาพ  การบำบัดรักษา การป้องกัน การเสริมความงาม การลดริ้วรอย การรักษาโรค เช่น บอกว่า คอลลาเจน รักษา โรคกระดูก ข้อเสื่อม  ฯลฯ ซึ่งผิดกฎหมายการโฆษณายา และอาหาร รวมทั้งกฎหมายเครื่องสำอาง เพราะไม่ใช่เป็นความจริง เป็นคำกล่าวเท็จ พูดเกินจริง หลอกลวง และแอบอ้างสรรพคุณทางยา

                             ผิดกฎหมายแล้ว ทำไมยังโฆษณาอยู่ได้ นั่นก็เป็นเพราะ การกำกับกฎหมายเดิม ยังไม่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหา แจ้งจับสถานีที่1 ก็เปลี่ยนชื่อรายการนิดหน่อย ไปโผล่ที่สถานีที่ 2  แถมยังเป็นการถ่ายทอดเป็นวิทยุดาวเทียม ยิ่งยุ่งไปอีกว่าต้นเรื่องที่ไหนอย่างไร

                            ตอนนี้ มี กสทช.แล้ว มีการเสนอวาระในสมัชชาสุขภาพแล้ว  มีองค์กรผู้บริโภค ได้ร่วมมือกันดูแลเฝ้าระวังแล้ว

                           

                         แต่ยังไม่พอ ต้องขอความร่วมมือผู้บริโภคช่วยกันด้วย อย่างน้อย 3 ข้อค่ะ

                           ข้อแรกคือ ทุกท่าน ต้องมีสติ อย่าหลงฟังเพลงเพลิน อย่าหลงคารมดีเจ แม้ว่าไม่เชื่อ แต่ฟังไปฟังมา ฟังบ่อยๆ ก็จะบันทึกข้อมูลไว้ในความจำของเรา โดยไม่รู้ตัว จนเราอาจเป็นคนต่อยอดการโฆษณาเกินจริงเหล่านี้เสียเอง

                         ข้อที่สอง ช่วยอัดเสียงบันทึกด้วยว่า สถานีไหน ดีเจ คนใด รายการใด ซึ่งปัจจุบัน มักมีการเชื่อมต่อข้อมูลจากอินเตอร์เนต และถ่ายทอดจากดาวเทียม กระจายเสียงผ่านวิทยุท้องถิ่นไปทั่วประเทศ ดังนั้น การบันทึกเสียงต้อง บันทึกเสียงให้ได้ข้อมูลว่า จัดคลื่นไหน ชื่อรายการอะไร ใครจัด พูดว่าอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องฟัง หรืออัดรายการเป็นวันๆ หากเป็นชาวบ้านเรา อาจต้องอดทนกันนิดหนึ่งเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา  แต่หากเรื่องนี้ จะมีกลุ่ม อย.น้อยมาทำการบันทึก ก็จะทำให้การแก้ไขและการเรียนรู้เกี่ยวกับการโฆษณาเกินจริงมีการเริ่มต้นในกลุ่มเด็ก ที่จะสานต่อได้

                         ข้อที่สาม ร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใครเกี่ยวข้องบ้าง คือ สคบ.(ศาลากลางทุกจังหวัด), สำนักงานสาธารณสุข,กสทช.,องค์กรผู้บริโภค และสื่อมวลชนก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นสังคม ซึ่งนอกจากการรับเรื่องร้องเรียนแล้ว หน่วยงานเหล่านี้ ควรเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องให้กับผู้บริโภคด้วย

                   

                                      แม้เพลงจะไพเราะเสนาะหู  ดีเจจะเอาอกเอาใจ ก็อย่าได้หลงเชื่อ อย่าเป็นคนต่อยอดการโฆษณาเกินจริง ต้องร้องเรียน พร้อมกับสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองและลูกหลาน ด้วยสติ  แสวงหาความรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง เปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆแห่ง และสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานหรือสถาบันวิชาการ

 

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]

 

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  ..๘ พฤศจิกายน…คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  ๗