กินเร็ว เสี่ยงอ้วน

0
757

มีผลการวิจัยจากต่างประเทศพบว่า การกินเร็ว ทำให้กินได้มาก ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะอ้วน เพราะกว่าสมองจะสั่งการว่าอิ่มแล้ว พอแล้ว กระเพาะของเราก็แน่นไปด้วยอาหาร 

ซึ่งแต่ละคนจะรู้ตัวอยู่แล้วว่า ตนเองนั้น เป็นคนกินเร็วหรือไม่  เพียงแต่หากเรามาดูสาเหตุ ว่าเป็นเพราะอะไรบ้าง   

(1)ส่วนหนึ่งมาจากวิถีชีวิตที่รีบเร่ง แข่งคน แข่งงาน แข่งเวลา

(2)วิถีค่านิยมของการกินอาหารสำเร็จรูป อาหารจานด่วน อาหารกล่อง อาหารฟาสฟู๊ดส์ มีรูปแบบที่ทำให้กินเร็ว

(3) การกินอาหารนอกบ้าน ร้านอาหาร อาหารในที่ประชุม อาหารบุปเฟ่ต์

(4)นิสัยการกินของเรา ซึ่งบางคนติดตัวการกินเร็วมาตั้งแต่เด็ก

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุที่ทำให้เรากินมาก กินเร็ว คือ รูปแบบสินค้าและบริการสมัยใหม่ทำให้มีของกินรอบตัวเราให้เราหยิบฉวยได้ง่าย ไม่สะดวกซื้อเอง ยังสามารถสั่งซื้อ มีคนมาส่งถึงบ้าน ทำให้สร้างนิสัยกินเร็ว กินมาก กินบ่อย กินตามใจ กินไม่สนใจเวลา กินไปดูทีวีไป เป็นการกินโดยตามใจตนโดยอัตโนมัติ

แต่โบราณมา คนบ้านเราสอนให้มารยาทในการกิน มารยาทในการรับประทานอาหาร ซึ่งจะถูกสอนกันมาตั้งแต่เด็ก               

              มารยาทในการกิน ที่สอนให้เราเคี้ยวข้าวช้าๆ ไม่เคี้ยวเสียงดัง จะหยิบจะวางจะตักอาหาร ต้องละเมียดละไม ค่อยจับค่อยวาง ซึ่งหากเรามามองปัญหาสุขภาพในปัจจุบัน เกี่ยวกับการกินช้ากินเร็ว ก็จะพบว่า หากเรากินแบบมารยาทไทย เราจะกินช้า กินอย่างไตร่ตรอง กินอย่างพุทธ  หากเราเอาเรื่องสุขภาพมาคู่กับมารยาทการกิน เราน่าจะได้วิธีการกินที่ดีต่อสุขภาพ

                แต่ในยุคนี้ สื่อทีวี โฆษณา วิถีเปลี่ยน ซึ่งทำให้สร้างนิยมการกินที่เปลี่ยนไป มารยาทในการกินจึงเปลี่ยนไปด้วย การกินเร็วจึงเป็นส่วนหนึ่งของภาวะโภชนาการเกิน เช่น ภาวะอ้วน หรือมีภาวะที่เสี่ยงต่อเบาหวาน รวมทั้งระบบย่อยของเราด้วย

  ในขณะที่บางคนบอกว่า ชอบกินเร็วจริง แต่กินไม่มาก จานเดียวอิ่มเลย อย่างนี้จะอ้วนหรือ

              บางคนอาจบอกว่า กินเร็วก็ทำให้กินได้มาก พอใจมาก ได้กินของถูกใจมากๆ มีความพอใจในการกินของตนเองแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ ควรต้องระวังปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมความเคยชินในการกินที่อาจจะส่งผลต่อเนื่องในระยะยาว

 ดังนั้น ถ้าเราเป็นคนกินตามกระแส อย่างน้อยจะมีปัญหา 2-3 เรื่องคือ เราก็จะเสี่ยงกับการกินเร็ว กินมาก และกินอาหารประเภทแป้ง หวาน มัน เค็ม

แต่ถ้าเราปรับตัวเอง เลือกอาหารที่กิน และฝึกการกินให้กินช้าลง จะช่วยทำให้ ปริมาณอาหารและการรับรู้ของสมองมีความสัมพันธ์กัน เราก็จะเป็นคนกินพอดี อิ่มพอดี 

การกินเร็ว จึงเป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่ง ที่เราควรแก้ไข ให้มีความพอดี ให้มีสติ รู้ว่ากินอะไร ตักกินข้าวปาก ปริมาณเท่าใด เคี้ยวไปได้รสใด เคี้ยวละเอียดพอดีก็จะทำให้การกินของเราเป็นการกินที่ไม่เหนื่อย มีความสุข

แต่ถ้าเรากินเร็ว เราจะเหนื่อย กินแล้วแน่น กินแล้วไม่มีความสุข มีบางคนเสนอว่า ข้าวคำหนึ่งให้    เคี้ยวนานๆ เคี้ยวหลายสิบครั้งแล้วค่อยกลืน อย่างนี้ก็อาจเป็นการกำหนดกฎตนเอง มากไป

                มีทางเลือกของแนวคิดและรูปแบบการกินที่ทำให้กินช้า เลือกอาหาร เลือกชนิด กำหนดเวลา กำหนดปริมาณการกิน หลายวิธีเช่น  การกินแบบชีวจิต การกินแบบแมคโครไบโอติก หรือการกินตามคำแนะของหมอ ให้เราปรับชนิดของอาหาร ปริมาณของอาหาร เมื่อเราป่วย ก็จะทำให้เรากินช้า และควบคุมปริมาณการกินไปด้วย

                รวมทั้งมีการเสนอรูปแบบให้กินตามธาตุ กินตามวันเกิด กินตามราศรี  กินตามโปรแกรม กินตามปริมาณแคลอรี่ ซึ่งแต่ละวิธีก็มีการอธิบายแตกต่างกันไป

แต่ไม่ว่าวิธีใด หากทำให้เราได้ไตร่ตรอง เลือกชนิดของอาหาร ปริมาณ เวลาและการเคี้ยวกินพอดีไม่ช้าเกินไม่เร็วเกินไป ก็น่าจะพอเป็นแนวทางให้เราเลือกกินได้ตามจังหวะเวลา ที่เราสนใจ หรือชัดเจนว่าเป็นทางเลือกของเราแล้ว

                เพียงแต่ในที่สุดแล้ว หากเราหันมาดู ชนิดของอาหาร มื้อเวลาที่กิน ปริมาณที่กิน วิธีกิน เราก็จะเห็นว่า การกินแบบไทยเรา มารยาทการกินของเรา  อาหารบ้านเรา นี่แหละ ที่จะช่วยแก้ไขพฤติกรรมการกินเร็ว กินมาก กินผิดชนิด กินผิดเวลาของเราได้

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]

 

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  29 พย 54 .คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7