ผิง(หิง)ไฟหน้าหนาวเผาข้าวหลาม

0
1019

ปัจจุบันถึงหน้าหนาวเมื่อใด หมู่บ้านใดผิงไฟ ก็จะมีข่าวว่า ชาวบ้านประสบภัยหนาว ต้องออกมาผิงไฟกันหนาว เพราะขาดแคลนผ้าห่ม ซึ่งก็เป็นทั้งความจริงและทั้งไม่จริง

 

              ความจริงคือชาวบ้านบางส่วนเครื่องกันหนาวไม่พอจริงๆ ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ส่วนไม่จริงคือ ชาวบ้านอาจมีหรือมีไม่พอ หรือมีพอ แต่ยังมีการก่อกองไฟ ผิงไฟให้คลายหนาว

เสน่ห์ของกองไฟยามเช้า เป็นบรรยากาศหน้าหนาว พ่ออุ้ยแม่อุ้ยลูกหลานล้อมวงผิงไฟ มองไกลออกไปท้องทุ่งบนดอยมีหมอกมีควัน มีเหมยมีหมอกมีน้ำค้าง

หน้าหนาวสมัยก่อน จะเริ่มตั้งแต่ตุลา สารพัดเสื้อกันหนาว ผ้าห่มสะลี(สะ-ลี)ที่นอนต้องให้อุ่นมากที่สุด บ้านใดมีลมมีช่องต้องอุดรูเข้าไว้ไม่ให้ลมหนาวเล็ดลอดมา ตื่นเช้าก็มีการดังไฟล้อมวงหิงไฟ(หิงไฟ –คำเมืองล้านนา หมายถึง ผิงไฟ)

          ดังไฟ  เป็นคำเมืองหมายถึงการจุดไฟ,ก่อกองไฟ เราจะตื่นกันแต่เช้า ย่องๆลงจากเรือน พอกองไฟได้ที่ ใส่หลัว(ฟืน)ดุ้นใหญ่ก็จะไม่ต้องคอยเติมฟืน สมาชิกในบ้านก็จะทยอยมาล้อมวง มีก้อมหรือม้านั่งอันเล็กๆ คุยกันไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ การหิงไฟ(คำเมือง)หรือการผิงไฟคลายหนาว จึงเป็นพื้นที่สื่อของคนในบ้านด้วย เพราะได้พูดคุยกัน ปรึกษาหารือกัน การก่อกองไฟหน้าหนาว คือวิถีชาวบ้าน เป็นท่วงทำนองของหน้าหนาว

 

         

         บางทีพ่ออุ้ยก็จะเอาไม้มาเหลามาสานเป็นเครื่องใช้ในบ้าน มีกาต้มน้ำ แม่เด็ดผักทำอาหาร ลูกๆขนข้าวหลามมาเผา เฝ้ารอให้สุก รอความอร่อยของข้าวหลาม

ไม้ข้าวหลามที่นำมาทำข้าวหลาม มักเป็นกอไม้ข้าวหลามที่อยู่ในบ้านหรือชายป่า ไม้ข้าวหลามจะมีลำต้นตรง ยาว และมีเยื่อหนา เหมาะสำหรับทำข้าวหลาม  ป้จจุบันเริ่มลดลงมาก เพราะมีการตัดเยอะ ในการทำข้าวหลามขาย บางแห่งถึงกับลักลอบตัดไม้ข้าวหลามในเขตป่าสงวน 

          เรานิยมใช้ไม้ข้าวหลามใหม่ของแต่ละปี คือไม้ที่เป็นหน่อใหม่ในหน้าฝน พอถึงหน้าหนาวก็พอดีที่จะตัดมาทำข้าวหลาม  และจะพอเหมาะพอเจาะกับข้าวใหม่ ถั่ว และงา ข้าวหลามจึงเป็นสัญญลักษณ์ของหน้าหนาว

          วิธีทำข้าวหลามของชาวบ้านทำไม่ยาก นำข้าวสารเหนียว หรือข้าวเหนียวขาวผสมข้าวก่ำ ถ้าชอบกะทิก็ทำข้าวหลามกะทิ ใส่เกลือเล็กน้อยพอมีรสกลมกล่อม ใส่น้ำตาลตามชอบ ถ้ามีถั่ว มีงา ก็ใส่เข้าไปด้วยกัน เตรียมกันตอนแลงหรือหัวค่ำ แช่ไว้คืนหนึ่ง พอเช้าก็เอามาเผา

          สูตรนี้มีความหวาน มัน และได้ประโยชน์เพิ่มจากถั่วจากงา ทั้งถั่วและงา มีโปรตีนสูง มีวิตามิน มีเส้นใย เราจะได้ประโยชน์จากข้าว จากถั่วงา จากเยื่อไม้

อีกสูตรหนึ่ง เป็นสูตรดั้งเดิม นิยมทำกินกัน โดยเฉพาะพ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่ไม่ชอบหวาน คือการทำข้าวหลามบ่าดาย ข้าวหลามบ่าดายคือ ข้าวหลามที่ทำง่ายๆ ไม่ใส่กะทิ ไม่ใส่น้ำตาล ไม่ใส่ถั่วไม่ใส่งา ตรงนี้แหละคือเสน่ห์ ความหอมอร่อยจากกลิ่นของไม้ข้าวหลาม กลิ่นข้าวใหม่ และเยื่อข้าวหลามเหนียวๆ ช่วยเพิ่มเส้นใย ให้ประโยชน์ กินลำกินอร่อยทีเดียว

                     

         การปิดจุกข้าวหลาม ดูเผินๆจะใช้อะไรก็ได้ที่สะดวก เช่น กาบมะพร้าว ใบกล้วย แต่บางบ้านก็เพิ่มเคล็ดลับความหอม ด้วยการใช้ใบงาขี้ม้อน ปิดจุกข้าวหลาม ความหอมจากใบงาช่วยชูรสข้าวหลาม ส่วนการใช้ใบเตยก็นิยมใช้กันในช่วงหลังๆ

          การเผาข้าวหลาม  จะได้รับการฝึกได้เรียนรู้กันมาแต่เด็ก แรกๆก็ช่วยพลิกข้าวหลาม ต่อมาก็ฝึกปอกเปลือกออก จากนั้นก็ทุบข้าวหลามเบาๆ เพิ่มความเหนียวนุ่ม เวลาแกะข้าวหลามก็จะแกะง่าย เผากันไปกินกันไป พอสายๆก็ดับกองไฟแยกย้ายกันไปทำงาน

             

               การดังไฟ การหิงไฟ การเผาข้าวหลาม จึงเป็นวิถีของชาวบ้าน เป็นภูมิปัญญาตามธรรมชาติ ที่ไม้ ข้าว ถั่วงา และความหนาวมาเจอกัน แม้อาจจะถูกแปรความหมายไปบ้าง ในแง่ความยากจน หรือการประเมินภัยหนาว แต่วิถีนี้ควรให้เป็นตามธรรมชาติบ้าง พบเห็นการผิงไฟคลายหนาวที่ใด ลองพูดคุยกับชาวบ้าน หากขาดแคลนเครื่องกันหนาวควรช่วยเหลือกัน แต่ก็ไม่แน่ท่านอาจอยากล้อมวงผิงไฟกับชาวบ้านเสียเอง

          ด้วยเสน่ห์ของหน้าหนาว และข้าวหลามหอมอร่อย