ทำบุญอย่างตั้งใจ เลือกของทำบุญให้เหมาะสม

0
2929

สังฆทาน ไม่มีฉลาก ไม่มีคุณภาพ ยังคงเป็นปัญหาอยู่มาก  วันนี้จึงของยกเอาประกาศควบคุมฉลากซึ่งเป็นกฎหมาย มาให้อ่านกันค่ะ

สังฆทานและชุดไทยธรรม เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑

มีรายละเอียดที่ผู้บริโภค พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการ พระภิกษุ สามเณรและชาวพุทธทั้งหลาย ควรทำความเข้าใจ ดังนี้

ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “ชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรม” หมายความว่า สินค้าที่นำมารวมเป็นชุด ไม่ว่าด้วยวิธีการใด เพื่อขายให้นำไปถวายแด่นักบวชในพระพุทธศาสนา

ข้อ ๒ ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

ข้อ ๓ ให้ติดตั้งหรือแสดงฉลากของสินค้าที่ควบคุมตามข้อ ๒ ซึ่งต้องเป็นข้อความภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้อย่างชัดเจน ตามตัวอย่างท้ายประกาศนี้ไว้ที่ภาชนะบรรจุหรือสิ่งที่นำมาห่อหุ้ม โดยให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้

(๑) คำว่า “ชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรม”

(๒) รายการสินค้าที่ระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และราคาของสินค้าแต่ละรายการ

(๓) ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรม

(๔) วันเดือนปีที่หมดอายุ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อน ของสินค้าใดสินค้าหนึ่งที่นำมารวมนั้นระบุว่าเร็วที่สุด

(๕) วันเดือนปีที่บรรจุ

 (๖) ราคารวมชุดจัดบรรจุที่ระบุหน่วยเป็นบาท

ข้อ ๔ ชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรมใดที่มีการนำสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันจนทำให้มีสี กลิ่น หรือรส เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเนื่องในการใช้หรือโดยสภาพของสินค้านั้นได้ ให้ระบุคำเตือนในฉลากตามข้อ ๓ ด้วย เช่น ใบชา ข้าวสาร สบู่ และผงซักฟอก อาจทำปฏิกิริยากัน จนทำให้มีสี กลิ่น หรือรส เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค เนื่องในการใช้หรือโดยสภาพของสินค้านั้นได้

  นี่คือประกาศของคณะกรรมการควบคุมฉลาก ซึ่งถือเป็นกฎหมาย แต่ในความเป็นจริง กลับมีปัญหา อย่างน้อย ๓ ประการคือ

                ประการที่หนึ่ง มีชุดสังฆทานส่วนหนึ่งที่มีฉลาก แต่สินค้าที่บรรจุภายในยังคงมีปัญหาวันหมดอายุ หรือใกล้วันหมดอายุ, สินค้าไม่มีคุณภาพ ปะปนกัน ดังนั้นแม้จะมีฉลาก ผู้ซื้อควรอ่านให้ดี สังเกตสภาพของสังฆทาน ผู้ใช้ หรือพระภิกษุสามเณร ก็ควรแกะสังฆทานโดยเร็ว เมื่อรับการถวายจากญาติโยม เพื่อแยกประเภทสิ่งของ

                ประการที่สอง มีสังฆทานจำนวนมากที่ไม่ติดฉลาก และก็ยังมีผู้ซื้อไปถวายพระ ซึ่งกลุ่มนี้ มีสินค้าที่ทำให้กลิ่นปะปนกัน สินค้าไม่มีคุณภาพ สินค้าไม่มีฉลาก

                ประการที่สาม ไม่ว่าจะมีฉลากหรือไม่มี ในถังเหลืองหรือชุดสังฆทานก็มักเป็นสิ่งของซ้ำๆ และไม่จำเป็นต้องใช้มากมาย ดังนั้นควรเลือกของถวายที่เหมาะสมและได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจถามที่วัด หรือสังเกตการใช้ตามความเหมาะสมในวัด

ประการที่สี่ การดำเนินงาน การดำเนินคดีตามกฎหมาย  ทำไม่ง่ายนัก ไม่ครอบคลุม ตรวจทีก็ไม่เจอ พอไม่ตรวจก็มีขาย แถมบนดอย เขตชนบท ก็ไม่สามารถจัดการได้ ทำอย่างไร องค์กรส่วนท้องถิ่นจึงมีส่วนร่วม

             ประการที่ห้า ผู้เสียหาย ไม่มี หรือมีน้อย คนแจ้งเบาะแส ก็มีน้อย เมื่อคนซื้อไปทำบุญ ก็ซื้อ  พระสงฆ์ สามเณร ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก นอกจากนี้ ยังมีป้ญหาความไม่เข้าใจ ปัญหาที่มองว่า มีคนทำบุญดีกว่าคนไม่ทำ ทำอย่างไรก็ไม่ว่ากัน หรือปล่อยเลยตามเลย

 

นอกจากเรื่องฉลาก คุณภาพ การบรรจุสินค้าแล้ว ยังมีสาเหตุสำคัญที่เกี่ยวกับเรา ผู้ซื้อ หรือผู้ทำบุญเอง  เช่น

สาเหตุแรก เรื่องทัศนคติ ไม่อยากคิด ไม่อยากจัดเอง ซื้อเป็นชุดดีกว่า ง่าย สบายดี

สาเหตุที่สอง ไม่รู้จะซื้ออะไร ไม่รู้จะจัดอะไร  ซื้อเอาดีกว่าง่าย สบายดี

สาเหตุที่สาม ซื้อๆไปเถอะ เอาไปทำบุญ ใครๆก็ซื้อ ไม่ได้ใช้เอง (อย่างนี้ควรแกะดูสักครั้ง แล้วแยกเป็นชิ้นๆ จากนั้น แยกอีกว่า อันไหนใช้อันไหนใช้ไม่ได้ และต่อท้ายด้วย ถ้าเป็นเราใช้ได้ไหม)

สาเหตุที่สี่ คิดแต่จะแลกบุญ เอาถังเหลืองแหละ ดูเข้าท่า ของชิ้นใหญ่ได้บุญเยอะ

สาเหตุที่ห้า ค่านิยม คิดว่า ควรเป็นถังเหลืองเท่านั้น คิดอย่างอื่นไม่ออก ยิ่งตอนนี้ แรงงานต่างด้าว ที่มาทำงานในบ้าน นิยมซื้อถ้งเหลือไปทำบุญเหลือเกิน ในขณะที่คนไทยเราพอจะแยกและเข้าใจได้บ้าง แต่ถังเหลืองกลับขายดีในแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะวัดไทยใหญ่ ถังเหลืองเต็ม

นี่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

การกระจายของถังเหลือง ตอนนี้ถังเหลืองไปถึงบนดอย ไปทุกที่ทุกแห่งในเขตชนบท

จึงมีน้อยมากที่ถังสังฆทานแบบดั้งเดิม จะมีให้เห็น นอกจากวัดที่ตั้งใจรื้อฟื้น หรือพื้นที่งานคุ้มครองผู้บริโภค

แต่ก็มีไม่น้อย ที่เราอาจไม่สนใจกฎหมายควบคุมฉลากมากนัก แต่เลือกที่ปรับความคิด ตั้้งใจทำบุญ ก็ควรตั้งใจเลือกหาสิ่งของปัจจัยทำบุญที่เหมาะสม ดูสักนิด คิดสักหน่อย ถ้าไม่ทราบก็ไปสำรวจว่าวัด พระสงฆ์ สามเณร ควรใช้อะไรได้บ้าง ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ต่างกับที่เราใช้ที่บ้านมากนัก และอย่าไปยึดติดค่านิยมว่าผิดๆ เพียงเท่านี้ เราทำบุญก็ได้บุญ

       นับจากวันวิสาขบูชา ต่อเนื่องถึงเข้าพรรษา  พวกเรานิยมถวายสังฆทาน ก็ควรจัดสังฆทานแบบล้านนา แบบประยุกต์ หรือซื้อสิ่งของถวายตามความเหมาะสม ด้วยการเลือกด้วยตนเอง ไม่ควรซื้อเป็นถังเหลืองที่เป็นชุด หากไม่แน่ใจ

          ทำบุญด้วยความเอาใจใส่ อย่าซื้อถังเหลืองหรือชุดสังฆทานที่ไม่มีคุณภาพ


สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]

 แหล่งข้อมูล  http://www.ocpb.go.th/