ไม่พิการ แต่..จอดรถในที่ของคนพิการ

0
2192

“ไม่มีที่จอดรถ” คือหนึ่งในปัญหาที่เราต่างเผชิญร่วมกัน ทั้งในแง่ที่เป็นปัญหาจริงๆ และในแง่ที่เป็นความสะดวกของเรา ไกลหน่อย เดินหน่อย เราก็ไม่อยากไปจอด ดังนั้นความหมายของคำว่าไม่มีที่จอดรถจึงอาจไม่ใช่ปัญหาจริง รวมถึงการกล่าวอ้างของคนไม่พิการที่มักจะจอดรถที่ระบุไว้สำหรับคนพิการ

          “ไม่เห็นมีใครมาจอด เห็นว่างๆ” นึ่คืออีกคำพูดที่มักจะอ้างเป็นเหตุผลให้ตนเองในการจอดรถในที่ของคนพิการ บางคนถึงขนาดบอกว่า “ไม่เห็นป้าย” หรือบางคนก็บอกว่า มีคนชรา มีคนแก่ ทั้งๆอาจไม่ใช่เหตุผลจริงๆที่ควรจะเป็น

          แต่เมื่อมาดูกฎหมายที่เป็นกฎกระทรวง ว่าด้วย การกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคาร  สำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราพ.ศ. ๒๕๔๘ จะพบว่าทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเพียงข้ออ้างให้ตนเองเท่านั้นใช่หรือไม่

          ตามนิยามของ กฎกระทรวงกล่าวว่า  สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา หมายความว่า ส่วนของอาคารที่สร้างขึ้นและอุปกรณ์อันเป็นส่วนประกอบของอาคารที่ติดหรือตั้งอยู่ภายในและภายนอกอาคารเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้อาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ดังนั้นจะเห็นว่า นี่คือเจตนารมย์ของกฎหมาย

          สถานที่ใดบ้างที่กำหนดให้มี สิ่งอำนวยความสะดวก คือ (๑) โรงพยาบาล สถานพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีอนามัย สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา หอสมุดและพิพิธภัณฑสถานของรัฐ สถานีขนส่งมวลชน (๒) สำนักงาน โรงมหรสพ โรงแรม หอประชุม สนามกีฬา ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า  สำหรับ กรณีของการติดป้ายให้เห็นชัดเจนนั้น กำหนด ว่า ป้ายแสดงสิ่งอำนวยความสะดวก โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ (๑) สัญลักษณ์รูปผู้พิการ(๒) เครื่องหมายแสดงทางไปสู่สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา(๓) สัญลักษณ์ หรือตัวอักษรแสดงประเภทของสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา

          สัญลักษณ์หรือตัวอักษรแสดงประเภทของสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ ให้เป็นสีขาวโดยพื้นป้ายเป็นสีน้ำเงิน หรือเป็นสีน้ำเงินโดยพื้นป้ายเป็นสีขาว ต้องมีความชัดเจน มองเห็นได้ง่าย ติดอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ทำให้สับสน และต้องจัดให้มีแสงส่องสว่างเป็นพิเศษทั้งกลางวันและกลางคืน

          สำหรับที่จอดรถ นั้นกำหนดให้เป็นตามอัตราส่วน เช่น ถ้าจำนวนที่จอดรถตั้งแต่ ๑๐ คัน แต่ไม่เกิน ๕๐ คัน ให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราอย่างน้อย ๑ คัน เป็นต้น

          นอกจากนี้ยังมีการกำหนดว่า ที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราให้จัดไว้ใกล้ทางเข้าออกอาคารให้มากที่สุด มีลักษณะไม่ขนานกับทางเดินรถ มีพื้นผิวเรียบ มีระดับเสมอกัน และมีสัญลักษณ์รูปผู้พิการนั่งเก้าอี้ล้ออยู่บนพื้นของที่จอดรถด้านที่ติดกับทางเดินรถ และที่สำคัญสัญญลักษณ์ นี้มีการกำหนดตามกฎหมายว่า ต้องมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า ๙๐๐ มิลลิเมตร (10 มิลลิเมตร เท่ากับ 1 เซนติเมตร) และยาวไม่น้อยกว่า ๙๐๐ มิลลิเมตร และนอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้มีป้ายขนาดกว้างไม่น้อยกว่า ๓๐๐ มิลลิเมตร และยาวไม่น้อยกว่า ๓๐๐ มิลลิเมตร ติดอยู่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ มิลลิเมตร ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน

          ส่วนขนาดของช่องที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราต้องเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างไม่น้อยกว่า ๒,๔๐๐ มิลลิเมตร และยาวไม่น้อยกว่า ๖,๐๐๐ มิลลิเมตร และจัดให้มีที่ว่างข้างที่จอดรถกว้างไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ มิลลิเมตร ตลอดความยาวของที่จอดรถ โดยต้องมีลักษณะพื้นผิวเรียบและมีระดับเสมอกับที่จอดรถ ซึ่งการกำหนดเช่นนี้ เนื่องจากว่า ผู้พิการ อาจจะมีล้อเข็น  ดังนั้น ขนาดของช่องจอดรถต้องรองรับการเปิดประตูและนำล้อเข็นออกมาจากรถได้สะดวก

          การที่เราพบช่องจอดรถของผู้พิการว่างอยู่ เราควรเคารพกติกา เพื่ออำนวยความสะดวก เป็นแบ่งปันน้ำใจ เป็นการเคารพสิทธิของคนพิการ  ดังนั้นจึงไม่มีบทลงโทษว่า ถ้าไม่พิการแต่จอดรถช่องคนพิการ จะมีการปรับการจับ

          แต่ทั้งๆที่มีป้ายกำกับ มีสัญญลักษณ์ แต่มีคนจำนวนมากไม่สนใจ ไม่ว่าเพราะที่จอดรถเต็มหรือไม่เต็ม เราก็มักจะพบเป็นปัญหาเช่นนี้ สถานที่บางแห่งถึงกับต้องมีพนักงานมาดูแลอีกแรง เช่น ท่าอากาศยาน โรงแรม โรงพยาบาล แต่บางแห่ง ไม่มีพนักงานมากำกับ เช่น บริเวณห้างสรรพสินค้า มักจะพบปัญหาการจอดรถในช่องคนพิการอยู่เสมอ

     การเคารพกติกา การเคารพสิทธิของผู้อื่น นอกจากกฎหมายกำกับแล้ว เราทุกคน ควรตระหนักในสิทธิและมีน้ำใจให้กัน ในสังคมปัจจุบัน มีการส่งเสริมให้ผู้พิการ สามารถใช้ชีวิตตามปกติให้มากที่สุด รวมถึงการเดินทาง การใช้สถานที่ต่างๆร่วมกับคนอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของผู้พิการ ก็ยังคงเป็นความจริง การให้สิ่งอำนวยความสะดวกของสังคมไทย ยังนับว่าน้อยนิดสำหรับโลกของพิการที่ต้องเผชิญ เราควรช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อย่างน้อย เคารพสิทธิในการใช้สถานที่ที่จัดให้เป็นการเฉพาะสำหรับผู้พิการ

 สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  17 กย 56 คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7

อ้างอิง http://www.bsa.or.th