จากน้ำใจผู้บริจาค ไปถึงมือผู้ประสบภัย

0
827

                        ภาพของพ่อแม่ลูก ภาพของคนหนุ่มสาว ภาพของกลุ่มจิตอาสาต่างๆ ภาพของใจบุญ อยากช่วย อยากบริจาค  ที่ต่างเอาข้าวของมาร่วมทำบุญ มาร่วมบริจาค  ล้วนเป็นภาพที่แสดงออกถึง “น้ำใจ  ความเห็นอกเห็นใจ ความช่วยเหลือ การแบ่งปัน” 

                       นับแต่มีปัญหาน้ำท่วม ในพื้นที่ภาคเหนือ และมาลงที่พื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพ ก็เชื่อว่า ต่างคนได้ร่วมกันบริจาคตามกำลังศรัทธา ออกแรงช่วยงาน ให้กำลังใจผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งการศึกษาหาข้อมูลที่ผู้ประสบภัยต้องการ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้ตรงจุด ว่า ต้องการอะไร ขาดอะไร มีหน่วยงานไหนดูแลแล้ว พื้นที่ใดที่ต้องการ และจะมีวิธีการส่งของไปบริจาคอย่างไร

จากน้ำใจของผู้บริจาค จึงต้องฝากความหวังกับผู้รับช่วงต่อที่จะไปบริจาคให้ถึงพื้นที่ ให้ถึงผู้ประสบภัย  ซึ่งมีพื้นที่จำนวนไม่น้อยที่เป็นจุดว่าง ไม่มีหน่วยงานใดมา แต่ก็มีไม่น้อยที่เป็นจุดชุกชุมของการบริจาค ดังนั้น การบริจาคจากประชาชนในจังหวัดภาคเหนือ จึงมีความสำคัญ ที่จะเป็นแรงหนุนสำคัญ  และมองเห็นจุดว่างที่จะช่วยเติม ให้การบริจาคได้ทั่วถึง

                      นอกจากการรับรู้จุดบริจาคผ่านสื่อต่างๆแล้ว เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือเฟซบุ๊กก็มีบทบาทมาก มีการส่งข่าวต่อ มีการติดต่อประสานงานและอาสามาช่วยกัน  การสื่อสารบอกกล่าวต่อกัน จะทำให้รับรู้รับทราบทั้งกระบวนการ ซึ่งในภาวะภัยพิบัติแบบนี้ ก็เป็นเสมือนการเล่าสู่กันฟัง ว่า มีจุดใดรับบริจาค จะไปบริจาคเมื่อใด ไปบริจาคที่ไหน ใครเป็นใครช่วยกันบ้าง เช่น มีตัวอย่างของ สวท.เชียงใหม่ ที่เป็นจุดรับบริจาค และคอยรายงานตลอดเส้นทางไปบริจาคว่าถึงไหนอย่างไร ทำให้คนฟังรู้สึกเป็นสุข ที่ได้ร่วมบริจาค ได้รับรู้ว่าของที่ตนบริจาคไปถึงมือผู้ประสบภัยแล้วนะ หรือบางคนก็อนุโมทนาบุญไปด้วย

                การบริจาค ควรมีหลักการอย่างไร เพื่อให้เงิน หรือข้าวของที่จะซื้อไปบริจาค ได้ก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ประการแรก ถ้าบริจาคเป็นเงิน ก็มีหลายวิธี เช่น การโอนเงินผ่านธนาคาร วิธีนี้ จะสะดวก และจะมีหน่วยงาน เป็นเจ้าภาพบริหารจัดการต่อ และมีหลักฐานการโอน การบริจาคผ่านตู้รับบริจาค ซึ่งวิธีนี้ ก็มักจะมีป้ายบอก ว่าเป็นตู้รับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย  และมักจะบอกว่าจะไปบริจาคให้ที่ไหนเมื่อใด  ซึ่งส่วนใหญ่ การบริจาคแบบนี้ ผู้บริจาคก็จะเชื่อมั่นหน่วยงาน หรือวัด หรือสถานที่ ที่ตั้งตู้รับบริจาค แต่ก็ควรซักถาม หากไม่มั่นใจ  อีกวิธีหนึ่งคือการบริจาคผ่านต่ออีกที เช่น บริจาคในรายการโทรทัศน์  มีภาพให้เห็น มีการประกาศชื่อ หรือการบริจาคผู้ว่าราชการจังหวัด บริจาคผ่านสภากาชาดฯลฯ วิธีนี้ก็มักเป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุน การจัดกิจกรรมเพื่อการรับบริจาคโดยเฉพาะ  ซึ่งการบริจาควิธีนี้ ก็อาจจะมีหลักฐานตอบเช่น ใบอนุโมทนาบุญ

                   ประการที่สองคือการบริจาคเป็นสิ่งของ วิธีนี้ นิยมกันมากที่สุด เพราะสะดวก และสามารถบริจาคได้ตามกำลังศรัทธา หรือ สามารถเลือกซื้อ หรือทำกันเอง สร้างกันเอง และการประดิษฐ์คิดสร้างใหม่

               วิธีนี้ ควรหาข้อมูลเพิ่มว่า มีอะไรบ้าง สำหรับบรรจุในลักษณะถุงยังชีพ หรือมีข้าวของเครื่องใช้ ข้าว อาหาร เครื่องปรุง เครื่องใช้ หรือยารักษาโรค เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ก็สามารถเลือกซื้อโดยให้คำนึงถึงภาชนะ ซอง หรือกล่องที่เหมาะสม วันเดือนปีหมดอายุ  หากเป็นอาหารควรคำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร หากเป็นสินค้าควรคำนึงถึงคุณภาพของสินค้า ความเหมาะสมกับการใช้งาน

                บ้างก็ว่า ไม่ควรบริจาคน้ำขวดเพราะหนักมาก จะขนส่งไม่สะดวก บ้างก็ว่า มีความต้องการน้ำดื่ม ขาดแคลนมากต้องช่วยกัน หรือเรื่องอื่นๆ ก็มีประเด็นว่าเลือกอะไรดี ซื้ออะไรดี บริจาคอะไรดี ทุกคำถาม ควรติดตามข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆประกอบด้วย นอกจากกลุ่มข้าวของพื้นฐานที่ควรใช้ในยามน้ำท่วม ขณะเดียวกันจุดรับบริจาคก็ควรให้ข้อมูลเพิ่มสำหรับผู้ประสงค์จะบริจาคด้วย 

                 ส่วนกลุ่มยา ควรไปซื้อจากร้านขายยาที่มีเภสัชกร และบอกว่าจะซื้อไปบริจาค เพื่อจะได้รับคำแนะนำในการซื้อที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งก็มีบางราย ซื้อยาเป็นขวดใหญ่ แล้วแบ่งใส่ซองพลาสติก ใช้ยางรัดถุง และ เขียนชื่อยาแปะไว้ ไม่มีรายละเอียดอย่างอื่น อย่างนี้จะไม่เหมาะสมที่จะบริจาคเพราะการแบ่งบรรจุ อาจมีความชื้น หรือซองฉีกขาดได้ และการเขียนเฉพาะชื่อยา ก็ไม่มีรายละเอียดที่ครบถ้วนว่า วิธีใช้อย่างไร ข้อควรระวังอย่างไร ดังนั้นการซื้อยาไปบริจาค ควรหาข้อมูล และ ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อ อย่าแบ่งยาที่บ้านไปบริจาค

                จากน้ำใจผู้บริจาค จนไปถึงมือผู้ประสบภัย จึงมีคุณค่ามหาศาลต่อผู้ประสบภัย ขออนุโมทนาบุญในน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ประสบภัย

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]