กินอาหารตรงเวลา และกินให้ช้าสักหน่อย

0
2011

อาหารสามมื้อของเรา เปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะการใช้ชีวิตในปัจจุบันอยู่กับการแข่งขัน เวลา ความเร็วและความต้องการของกระแสสังคม รวมทั้งความเป็นตัวตนของบุคคล ผลที่ออกมา หากจะนับเรื่องการรับประทานอาหารตรงต่อเวลาหรือไม่ ก็น่าจะอนุโลมได้ว่า เป็นชี้วัดหนึ่งของ หลักการดูแลสุขภาพ

       เพราะวัตถุประสงค์ของการรับประทานอาหารคือ นำสารอาหารไปสู่ร่างกาย ซึ่งกลไกที่สำคัญคือ อาหาร และระบบการย่อยของร่างกาย 

อาหารที่ดีต่อร่างกาย คืออาหารที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต้องมีความสมดุล เหมาะสม  ของอาหารทั้ง 5 หมู่ และมีความเหมาะสม ต่อภาวะร่างกาย ปริมาณพอดี รวมทั้งชนิดของอาหาร ความเป็นธรรมชาติของอาหาร ไม่มีสารปนเปื้อน และมีสุขอนามัยที่ดีในการปรุงอาหาร ซึ่งปัจจุบันอาหารที่ดีต่อร่างกาย มีปัจจัยอื่นๆเกี่ยวข้องมาก เช่น มีไขมันมาก เกลือมาก สารสังเคราะห์   เป็นต้น ซึ่งต้องใช้ความเอาใจใส่ เลือกรับประทาน  เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับอาหาร  ตระหนักในความสำคัญของอาหารต่อสุขภาพ  ใช้กฎหมายและสิทธิผู้บริโภคในการพิทักษ์ความปลอดภัยของอาหาร  ที่น่าเป็นห่วงคือปัจจุบันมีโรคที่มีสาเหตุจากอาหารมากขึ้น

ส่วนระบบการย่อยของอาหาร มีความสำคัญเชื่อมโยงกับชนิดของอาหาร เวลาที่รับประทาน ปริมาณที่รับประทาน ภาวะขาดภาวะเกินของสารอาหารและส่วนเกินต่างๆที่มากับอาหารที่เรารับประทาน เช่น ส่วนเกินจากสารกันบูด  ส่วนเกินจากสารสังเคราะห์ รวมทั้งการปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ เป็นต้น

            การย่อยอาหาร เริ่มตั้งแต่  การบดเคี้ยวอาหารซึ่งต้องอาศัยการบดเคี้ยวของฟัน ดังนั้นช่องปากของเราจึงมีความสำคัญต่อการบดเคี้ยวช่วยบดชิ้นอาหารให้เล็กลง เพื่อเข้าสู่การย่อยเชิงเคมี  ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดโมเลกุลของสารอาหารโดยเอนไซม์

         ระบบการย่อยของร่างกาย  เป็นกลไกที่ร่างกายได้กำหนดนาฬิกาให้เรารู้ว่า ควรรับประทานอาหารแบบไหน เวลาเมื่อใด ปริมาณเท่าใด  เช่น สารอาหารกลุ่มโปรตีนใช้เวลาในการย่อย 3-4 ชั่วโมง ดังนั้นการรับประทานอาหารตรงเวลา ด้วยอาหารที่สมดุล จะช่วยให้ระบบร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอและ เหมาะสม  

ในเวลารีบเร่ง การใช้ชีวิตตามใจ หากเรากินอาหารไม่ตรงเวลา กินจุกจิก กินบ่อย กินมาก และกินอาหารที่ทำให้ระบบย่อยไม่สามารถทำงานได้สมดุล มีไขมันเกิน มีสารเคมีเยอะ ก็จะส่งผลเสียต่อร่างกาย

อีกทั้งการกินอาหารด้วยความรีบเร่ง กินเร็ว กินด่วน เคี้ยวอย่างรวดเร็ว กลืนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้กินมากโดยไม่รู้ตัว แม้ปัจจุบันมีแนวคิดให้กินแบบช้าๆ เคี้ยวช้าๆ เคี้ยวนานๆ  ซึ่งไม่ว่าอย่างไร ทุกอย่างคือความสมดุลพอเหมาะพอดี เช่น ถ้าเราเคี้ยวข้าวคำหนึ่ง หลายสิบครั้ง การบดเคี้ยวนานๆไม่เป็นผลดีต่อฟัน หรือกราม เป็นการฝืนร่างกาย

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างคือความสมดุลเหมาะสม การกินเร็วไม่ดีต่อการย่อยของร่างกาย ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด  เพื่อส่งต่อให้ระบบย่อยเชิงเคมีของร่างกาย  การกินอาหารเป็นสุนทรีของมนุษย์ก็จริง แต่ไม่ควรกินเร็ว กินมาก กินไม่ถูกวิธี กินอาหารไม่ดีต่อสุขภาพเพียงเพราะใช้คำว่าอร่อย หรือชอบ มาเป็นอันดับหนึ่งจนเกินไป อาหารที่ดี กับความอร่อยควรเป็นของคู่กัน เพียงแต่เราต้องรู้ทันภาพลวงตาของรสชาตสารปรุงแต่ง

        เมื่อเราเจ็บป่วย เราอาจพุ่งเป้าไปที่การใช้ยาทันที ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ยาในรักษา แต่ในเบื้องต้น อาจจะไม่ใช่ว่าทุกโรคต้องใช้ยา หรือรักษาโดยใช้ยาเพียงอย่างเดียว การหันกลับมามองตัวเอง ว่าเรามีพฤติกรรมการกินอย่างไร กินแบบไหน กินอะไร เมื่อใด  หากสำรวจตนเองจะพบว่า โรคที่เราเป็น ระดับอาการที่เราป่วย เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดบรรเทาด้วยตัวเราเอง

 เมื่อเราปรับการกิน อาจเริ่มจากกินให้ตรงเวลา กินให้ช้า จากนั้นเราจะเห็นเองว่า เราควรปรับอะไรเพิ่มเติม เพียงแต่อย่ามองข้ามเรื่องอาหารการกิน  ซึ่งสำคัญมากทั้งต่อการสร้างเสริมสุขภาพและการบำบัดรักษายามเจ็บป่วย 

©สุภฎารัตน์