อาหารใส่บาตร อาหารบริจาค

0
1510

อาหารเป็นพิษ ทำให้เกิดอาการท้องร่วง อาเจียร เป็นเหตุที่พบบ่อยครั้ง หากเป็นกลุ่มใหญ่ จะเป็นข่าว แต่หากเป็นกลุ่มเล็กหรือเกิดขึ้นกับคนบางคน ก็จะไม่ค่อยได้รับความสนใจหาสาเหตุ ยกเว้น มีการร้องเรียน

ยิ่งเกิดกับเด็กนักเรียน ซึ่งถือว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีภูมิต้านทานต่ำก็ยิ่งน่าเป็นห่วง

ประเด็นอยู่ที่ว่า เหตุที่เกิดขึ้นจากอาหารที่บริจาค จะเป็นความผิดของผู้บริจาคไหม

เช่นเดียวกับ อาหารใส่บาตร หากพระภิกษุหรือสามเณร ได้รับผลของอาหารไม่ปลอดภัย จะถือว่าเป็นเรื่องของความถูกหรือความผิดไหม

นอกจากนี้ นิยามของคำว่าอาหารไม่ปลอดภัย หมายความถึงผลระยะยาวของอาหารหรือไม่ เช่นเดียวกับพวกเราที่กินอาหารไขมัน หวาน เค็ม ล้วนเกิดผลเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ

“ใส่บาตรอย่าถามตุ๊” กลายเป็นอุปสรรค สำหรับการถวายอาหารหรือการใส่บาตร เช่นเดียวกับ พระสงฆ์หรือสามเณรที่ไม่ควรเลือกอาหาร  หรือปฏิเสธอาหาร ปฏิเสธการทำบุญ ปฏิเสธการถวายอาหาร

เพราะเรามักจะคิดว่า หากเป็นเรื่องที่เราซื้อหรือใช้บริการที่เราจ่ายเอง  หากมีความเสียหายใด ก็มีสิทธิร้องเรียน แต่หากเป็นของที่ได้รับบริจาค มีคนให้มา มีคนเอามาฝาก มีคนแบ่งปันมา หากเป็นปัญหาเกิดขึ้น เราก็คิดว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะมาร้องเรียน หรือเป็นความผิดของผู้ให้ แม้กฎหมายจะระบุถึงคำว่า บริโภค ไว้ ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด แต่สำหรับบ้านเราถือเป็นจารีตประเพณี ถือเป็นเจตนาที่ดี ถือเป็นการทำบุญ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมากล่าวโทษหรือร้องเรียน เพียงกล่าวกันว่าเป็นอุทาหรณ์ เป็นบทเรียน เป็นคำเตือน เป็นข้อระวัง

แต่ปัจจุบัน ทุกอย่างเปลี่ยนไป มีปัจจัยต่างๆเข้ามาส่งผลหลายด้าน จึงขอตั้งข้อสังเกตที่อาจจะเป็นจุดของปัญหา คือ

ประการแรก การบริจาคหรือถวายอาหาร ผู้ถวายไม่ได้รับประทานเอง เป็นการบริจาคหรือทำบุญ โดยหวังบุญ หรือด้วยความปรารถนาดี  ด้วยจิตใจดีของผู้ให้ จึงอาจละเลยบางปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

ประการที่สอง ค่านิยมว่าอาหารที่ดี จึงเป็นอาหารหวาน มัน เค็ม ผงชูรส แป้ง สารปรุงแต่ง อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มกระป๋อง อาหารกล่อง ฯลฯ

ประการที่สาม เป็นความจริงที่ว่า ปัจจุบัน พระสงฆ์ มีปัญหาสุขภาพ จากโรคอ้วน ความดันโลหิต โรคไต โรคหัวใจ โรคเรื้อรังต่างๆ สำหรับสามเณรอายุน้อยๆ ก็มักมีปัญหาด้านโภชนาการ

ประการที่สี่ การขายอาหารถวายพระ การทำอาหารกล่อง การทำอาหารบริจาค การถวายสังฆทาน การถวายเครื่องดื่มต่างๆ เป็นปัญหาอยู่จริง ไม่ว่าจะเพราะไม่ได้กินเอง ต้องการกำไร ไม่ได้เจตนา หรือค่านิยม ไม่ใช่ถังเหลือง เหมือนไม่ได้บุญ ถวายน้ำเปล่าก็ดูไม่เข้าท่า

ประการที่ห้า จารีตเดิมที่การบริจาคอย่างไรก็รับ  ไม่อาจปฏิเสธ ต่อรอง ไม่สมควร สำหรับพระสงฆ์สามเณร ที่รับถวาย ก็อาจขาดการจัดการที่ดีภายในวัด เช่น ถังเหลือง ควรรีบแกะ แยกประเภทสิ่งของ แทนที่จะเก็บไว้นาน ของอาจเสียและหมดอายุ

นอกจากนี้ การบริจาคหรือการทำบุญ ถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นเจตนาที่ดี จึงกลายเป็นจุดเกรงใจ ที่จะกล่าวหา กล่าวโทษ ท้วงติง หรือตั้งคำถาม

ถ้าเช่นนั้น ทำอย่างไร อาหารใส่บาตร อาหารถวายพระ อาหารบริจาค จะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ประเด็นสำคัญ คือ ถ้าเราตระหนักถึงความปลอดภัยของอาหาร คุณค่าทางโภชนาการ ไม่ว่าเราจะรับประทานเอง หรือจะถวายพระ จะเอาไปบริจาค เราก็ย่อมจะต้องใส่ใจ อย่าคิดถึงปริมาณต้องมากๆ เป็นหลัก ต้องคิดถึงคุณค่า สารอาหาร และความปลอดภัย

เมื่อมีความตระหนักเอาใจใส่ พิถีพิถันในการเลือกซื้อหรือเตรียมบริจาคหรือการถวายแล้ว ควรต้องคำนึงถึงภาชนะบรรจุ ว่าแบบใดจึงจะเหมาะสม ชนิดของอาหาร ชนิดของเครื่องดื่ม  การเก็บอุณหภูมิที่เหมาะสม ช่วงเวลาของการเตรียมการ การขนย้าย และช่วงเวลาของการฉัน หรือการรับประทาน

แสวงหาทางเลือกที่เหมาะสม หรือการหาข้อมูลก่อนที่จะบริจาค สำหรับการถวายสิ่งของหรือสังฆทาน ควรหาข้อมูลว่า สิ่งใดเหมาะสม ไม่ควรยึดติดกับปริมาณมากน้อย หรือคิดว่า ทำบุญแล้วต้องได้บุญ หากไม่ใส่ใจอาจเป็นบาปก็ได้

การให้เป็นสิ่งที่ดี เป็นเจตนาที่ดี และจะดียิ่งขึ้น หากเรารู้เท่าทันค่านิยมผิดผิด อย่าได้ลืมเลือนเรื่องของความปลอดภัย ,คุณค่าและประโยชน์ เพียงเท่านี้ การให้จึงเป็นการให้โดยแท้

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]

 

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  ..17 กค 55 ..คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7