สงสัยเรื่องการใช้พลาสติก

0
1740

สงสัยเรื่องการใช้พลาสติก (1) 

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

          เมื่อเราคัดแยกขยะ เราจะพบว่า ขยะจำนวนมาก ก็คือ พลาสติกบรรจุอาหาร บรรจุขนม เครื่องดื่ม ถุงพลาสติก  หรือถุงก็อบแก็บ ที่เราใช้กันมากมายทุกวัน   

และเรามักจะสงสัยว่า พลาสติกแบบไหน ใช้กับอาหาร ใช้กับเครื่องไมโครเวฟ ใช้กับของร้อนของเย็น บางครั้งไปตลาด เห็นพ่อค้าแม่ค้า ใช้กาละมังสีดำ บรรจุอาหาร หรือหมักหมู ไก่ ก่อนทอด  เราก็สงสัยว่า จะใช้ได้หรือในเมื่อกาละมังสีดำเป็นพลาสติกรีไซเคิล ที่คุณภาพต่ำ  

บางครั้งเมื่อเรากินก๋วยเตี๋ยวอย่างเอร็ดอร่อย จนเมื่อเห็นก้นชาม นั่นแหละเราถึงฉุกใจได้สติว่า ทำไมก้นชามก๋วยเตี๋ยวเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลดำ มีรอยแตกงา ยังใช้บรรจุอาหารได้อีกหรือ? แม้กระทั่งถึงคำถามว่า ขวดน้ำพลาสติกจะนำมาใช้ซ้ำได้ไหม ?

              

  เพราะมีการใช้กันมาก ใช้กันง่าย ใช้กันตามสะดวก ขาดความเข้าใจในการเลือกใช้พลาสติก ขาดความตระหนักถึงอันตรายจากพลาสติก จึงต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภค ในการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นสินค้าควบคุมฉลาก

                นั่นคือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก  ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๔) เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยมีสาระสำคัญในประกาศนี้ คือ

นิยาม“ผลิตภัณฑ์พลาสติก” หมายความว่า ภาชนะหรือสิ่งบรรจุสิ่งของหรือเครื่องใช้ที่ทำขึ้นจากพลาสติก หรือฟิล์มพลาสติกหรือฟิล์มหดด้วยความร้อนหรือฟิล์มไนลอนหรือไนลอนเรซิน ที่ทำขึ้นเพื่อใช้สำหรับอาหาร หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ทำขึ้นจากพลาสติกหรือฟิล์มดังกล่าว เพื่อใช้เป็นสิ่งบรรจุหรือเป็นภาชนะหรือเป็นเครื่องใช้

                การกำหนดให้ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากตามกฎหมาย จะต้องมีฉลาก ซึ่งจะต้องมีข้อกำหนดดังนี้

ข้อกำหนดเกี่ยวกับ “วิธีใช้” ในฉลากนั้น ให้ระบุว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้เพื่อสิ่งใด ถ้าเป็นภาชนะหรือสิ่งบรรจุ หรือเครื่องใช้ให้ระบุข้อความที่เป็น “คำเตือน” ไว้ด้วย

                ข้อกำหนดเกี่ยวกับ “คำเตือน” ในฉลากนั้นให้มีข้อความว่า

(๑) “ห้ามใช้บรรจุหรือห่อหุ้มอาหาร” สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ทำขึ้นเพื่อไม่ต้องการให้ใช้กับอาหาร

(๒) “ใช้บรรจุอาหารหรือห่อหุ้มอาหาร หรือใช้บรรจุเครื่องดื่มใช้เพียงครั้งเดียว” หรือ “ไม่ควรใช้บรรจุอาหารที่กำลังร้อนจัดโดยเฉพาะอาหารทอดด้วยน้ำมัน” หรือ “ปลอดภัยใช้กับอาหาร” หรือ “ปลอดภัยใช้กับเครื่องดื่ม” แล้วแต่กรณี

(๓) “ห้ามใช้บรรจุของร้อน” สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไม่ทนความร้อนสูงกว่า ๙๕ องศาเซลเซียส

(๔) “รับน้ำหนักได้ไม่เกิน…………กิโลกรัม หรือ กก.” สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้เพื่อรองรับน้ำหนัก เช่น โต๊ะ เก้าอี้ บันได

(๕) “มีส่วนผสมจากวัสดุที่ใช้แล้ว” สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ทำจากพลาสติกที่ใช้ทำสิ่งของอื่นมาแล้วหลอมผลิตเป็นสินค้าใหม่

และข้อความที่เป็น “คำเตือน” ต้องใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่น

นั่นหมายความ ทุกครั้งที่เราจะซื้อสินค้าพลาสติก เราต้องอ่านฉลาก แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการที่ ผู้บริโภคอย่างเรา ควรตระหนักถึง จะเป็นปัญหาใด  ในฉบับหน้า เราจะคุยกันเรื่องนี้ค่

 

สงสัยเรื่องการใช้พลาสติก (2)

 

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

ภาชนะบรรจุอาหาร ยา เครื่องดื่ม หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต ต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัย คือ ต้องเป็นภาชนะมีคุณภาพ สะอาดไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ไม่มีสี หรือโลหะหนัก ปนเปื้อนมากับอาหารส่งผลถึงอันตรายต่อสุขภาพ  

ดังนั้น เครื่องหมาย มอก. หรือเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นเครื่องหมายสำคัญที่จะช่วยให้ผู้บริโภค สามารถเลือกซื้อสินค้าพลาสติคที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเมื่อรวมกับการอ่านฉลากแล้ว ก็จะช่วยให้ผู้บริโภค หรือผู้ประกอบการ เลือกซื้อเลือกใช้พลาสติกได้เหมาะสม ใช้ถูกวิธี และมีความปลอดภัย ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีเครื่องหมาย มอก. เช่น หลอดพลาสติก ขวดนม กระติกน้ำพลาสติก ถังน้ำ ภาชนะเมลามีน  ถุงร้อน ถุงเย็น ฟิล์มหุ้มอาหาร ภาชนะและอุปกรณ์พลาสติกที่ใช้กับยา อาหาร เครื่องดื่ม  เป็นต้น

                การควบคุมมาตรฐาน และการจำแนกประเภทพลาสติกที่ระบุในฉลาก เป็นหลักการสำคัญเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ในท้องตลาดบ้านกลับมีสินค้าพลาสติกจำนวนมากที่มีขายทั่วไป หรือเป็นภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม  ไม่มีเครื่อง มอก.ไม่มีฉลาก  ดังนั้นจึงเป็นปัญหาของพวกเราทุกคน ที่ต้องวิเคราะห์และช่วยกันป้องกัน อันตรายจากการใช้พลาสติกไม่ได้มาตรฐานและใช้ไม่ถูกต้อง หลายประเด็น เช่น

          1.             สินค้าพลาสติกไม่ได้มาตรฐาน  และไม่มีฉลาก สินค้ากลุ่มนี้  มีขายในราคาถูก หาซื้อได้ง่าย  บางชนิดมีรูปแบบ สีสัน ลวดลาย เลียนแบบสินค้ามาตรฐาน  

ซึ่งปัญหานี้ ผู้บริโภคบางรายอาจไม่มีความรู้  ไม่เฉลียวใจถึงความเป็นอันตราย  บางคนอาจคิดว่าซื้อไว้ใส่ผลไม้ หรืออาหารที่ไม่ร้อน ก็น่าจะใช้ได้ ซึ่งในความเป็นจริง หากไม่แยกเก็บ หรือรูปแบบคล้ายกัน ถึงเวลาใช้ก็แยกแยะไม่ได้   สำหรับพ่อค้าแม่ค้า หรือผู้ประกอบการอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารพร้อมรับประทาน หากซื้อสินค้าพลาสติกกลุ่มนี้มาบรรจุอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อจำหน่าย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของต้นทุนสินค้า หรือไม่ใส่ใจกับความปลอดภัยของผู้บริโภค ล้วนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคไม่อาจทราบได้  ยิ่งผู้บริโภคที่นิยมอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูป ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังภาชนะบรรจุด้วย

2.             วิธีใช้ไม่ถูกต้อง  ไม่ถูกประเภท ซึ่งแม้จะซื้อมาด้วยหลักการที่ถูกต้อง หากใช้ไม่ถูกต้องก็เป็นอันตราย (ยิ่งเป็นพลาสติกที่ไม่ได้มาตรฐาน ใช้ผิดประเภทก็ยิ่งเป็นอันตราย)  ซึ่งมักจะข้อห้ามหรือคำแนะนำ เช่น  การใช้กล่อง/ถุง/โฟม/ฟิล์มสำหรับไมโครเวฟต้องมีฉลากที่ระบุชัดเจน    แยกพลาสติกสำหรับของร้อนของเย็น ห้ามใช้ฟิล์มพลาสติกหุ้มอาหารร้อน ห้ามใช้พลาสติกใส่อาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นกรด    ห้ามนำขวดน้ำดื่มมาใช้ซ้ำ ห้ามนำแกลลอนน้ำมันเครื่องมาใส่น้ำดื่ม  การใช้ภาชนะถัง กาละมัง ขวดสำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่มต้องเป็นชนิดที่ระบุในฉลากเท่านั้น ดังนั้นการใช้ถังดำ ถังน้ำ มาใส่อาหารหมักสำหรับทอดจึงเป็นอันตราย การเอาถุงน้ำมันพืชหย่อนลงในกะทะร้อนเป็นการเติมน้ำมันจึงเป็นอันตราย การใช้โฟมกับอาหารร้อนที่มีน้ำมันก็อันตรายหากไม่รองพื้นและคลุมอาหารด้วยพลาสติกชนิดใช้กับของร้อน   การใช้ขวดพลาสติกบรรจุน้ำหมักชีวภาพสำหรับบริโภคที่มีภาวะเป็นกรดจึงอันตราย  เป็นต้น

 

                3.      ผลกระทบต่อสุขภาพ มีข้อมูลที่เป็นวิจัยมากมายเกี่ยวกับความเป็นอันตรายจากพลาสติก ทั้งในการอธิบายว่าอันตรายเพราะอะไร และอันตรายอย่างไร  ในที่นี้จะยกตัวอย่างข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหาร อย. อธิบายถึงอันตรายเพราะอะไรและอย่างไร เช่น ลักษณะการปนเปื้อนสารอันตรายลงสู่อาหาร หรือเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างอาหารและภาชนะบรรจุ  ลักษณะความเป็นพิษของอาหารที่เกิดจากการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ไม่เหมาะสมเป็นประจำ ก่อให้เกิดการสะสมของพิษ  เช่น พิษจากตะกั่ว ที่รับผลจากการดื่มน้ำสัมสีสดในขวดพลาสติกเป็นติดต่อกันเวลานานหรือรับประทานบ่อยครั้ง กล่องโฟมที่นำมาบรรจุอาหารที่ทอดร้อน ๆ และมีน้ำมันขึ้นจากเตาใหม่ ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถละลายสารบางชนิดออกจากกล่องโฟม และปนเปื้อนสู่อาหารได้  อาจมีสารพิษที่มีผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว และสะสมในร่างกายก่อให้เกิดมะเร็ง 

และยังมีความเป็นอันตรายพลาสติกที่มีรอยขีด รอยแตกงา  สีเปลี่ยน  พลาสติกเก่าๆใช้ซ้ำๆ ที่เราพึงใส่ใจ อย่าเสียดายที่จะทิ้งพลาสติก เก่าหรือชำรุด หรือเสื่อมสภาพเหล่านี้

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากโครงการอาหารปลอดภัย เด็กไทยพ้นภัยสารพิษพลาสติก เปิดเผยว่า หากเลือกใช้พลาสติกผิดวิธี นอกจากร่างกายจะได้รับสารพิษแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพเด็กในระยะยาว เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง และพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศได้

ส่วนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทางเลือกของผู้บริโภค ควรจะปรับอย่างไร ในฉบับหน้าเราจะมาช่วยกันคิดค่ะ

 

 

สงสัยเรื่องการใช้พลาสติก (จบ)


สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

 เรื่องใหญ่ที่เห็นได้ชัดเจนเกี่ยวกับพลาสติก คือ ปัญหาขยะ ทั้งปริมาณ การกำจัด การใช้ทรัพยากร การใช้พลังงานสิ่งแวดล้อม มลพิษ และน่าเป็นห่วงอย่าง เพราะยิ่งนับวันขอบเขตของการใช้พลาสติกก็ยิ่งมีมากขึ้นทุกมิติ แม้ว่าจะการผลิตวัสดุที่ใช้แทนพลาสติก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ และยังมีข้อจำกัดในการใช้  อย่างไรก็ตาม  ทิศทางทางเลือกทดแทนพลาสติกเป็นทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งต้องพัฒนาและขยายขอบเขตให้กว้างขวาง

ส่วนเรื่องพลาสติกกับสุขภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค แม้ว่าจะมีผลการวิจัยออกมามากมายถึงความเป็นอันตรายต่อสุขภาพ  มีกฎหมายกำกับดูแล มีการรณรงค์ ให้ความรู้ ให้คำเตือน  แต่ความตระหนักรู้ และการจัดการให้เหมาะสม ยังต้องช่วยกันคิดอีกมาก ในทุกระดับ

เริ่มจากการปรับความคิดและค่านิยมที่จะนำพาให้ใช้พลาสติกมากขึ้น เช่น ชอบความง่าย สบาย สะดวก  ต้องพลาสติก ต้องโฟม ต้องอาหาร เครื่องดื่มสำเร็จรูป เกิดความเคยชิน  เกิดความเสียดาย ใช้แล้วใช้อีก คิดว่าไม่เห็นอันตรายอะไร คิดว่าใครๆก็ใช้   ไม่เห็นอันตรายอะไร  เป็นต้น หรือเด็กชอบกินขนมกรุบกรอบ ชอบเครื่องดื่มประเภทกระป๋อง ขวดพลาสติก ง่ายดีตกไม่แตก   

ซึ่งหากเราปรับเปลี่ยนความคิด และปรับพฤติกรรมการใช้พลาสติก เราก็จะเห็นหลายประเด็นที่ เราควรตระหนักและหาทางแก้ไข หรือลดปัญหาร่วมกัน เช่น ลองสังเกตในสังฆทาน จะพบว่ามีกลิ่นปนเปื้อน พลาสติกหุ้มสังฆทานสีเหลือง ขวดน้ำในสังฆทานบางครั้งก็มีติดสีเหลืองจากพลาสติกหุ้มสังฆทาน  การซึมผ่านของกลิ่น

ขวดน้ำในรถ ที่วางไว้นาน ซึ่งในรถจะมีอากาศร้อน  

อาหารว่าง อาหารกลางวันที่เป็นอาหารกล่อง การประชุม หรือในงานต่างๆ   เดี๋ยวนี้งานปอยงานบุญ ก็มีการใช้พลาสติกบรรจุอาหาร ขนมเยอะมาก จนเป็นขยะมากมายเกลื่อนวัด แม้ในงานกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน ในชุมชน ในงานสาธารณะต่างๆ ก็มีการใช้โฟม แก้วพลาสติก  แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร  จะมีแนวทางอย่างไร เช่น งานวัดบ้านเรา จะลดการใช้พลาสติก จะลดได้อย่างไร จะรณรงค์อย่างไร จะมีข้อปฏิบัติอย่างไร  หากจำเป็นต้องใช้ จะมีการจัดเก็บขยะอย่างไร เช่น แทนที่จะทิ้งแบบทรงกล่องเดิม ก็ให้หักแยกฝาบนออกมาซ้อนกัน จะลดพื้นที่การเก็บ   หรือมีข้อกำหนดให้พ่อค้าแม่ค้า ใช้พลาสติกที่ได้มาตรฐาน ใช้เหมาะสมกับอาหาร หรือเครื่องดื่มที่จำหน่าย  และต้องมีการเตรียมถุงขยะให้ลูกค้าด้วย   อาหารกล่อง ต้องดูว่าเป็นอาหารประเภทใด หากเป็นอาหารที่มีไขมัน  ควรต้องกำหนดให้รองพลาสติกแบบร้อน ทั้งก้นกล่องและฝากล่อง  ส่วนช้อนพลาสติกห้ามวางบนอาหาร ต้องวางในช่องที่มีพลาสติกกั้นเป็นต้น  ยิ่งปัจจุบันมีการใช้ไมโครเวฟกันมาก หากไม่มีเลือกภาชนะให้ดี ก็เป็นอันตรายมาก

          สถานที่ เช่น วัด สถานที่ท่องเที่ยว ธรรมชาติป่าเขา บางทีพบซองขนม ขวดน้ำเกลื่อนดอย  เพราะเรานำพลาสติกขยะเหล่านี้ไปยังที่อยู่ของเรา ในป่าในเขา และก็มีปัญหาการจัดเก็บขยะ การเผาขยะ

ต้องตระหนักว่าถึงความเป็นอันตราย สินค้าต้องได้มาตรฐาน การใช้ต้องถูกประเภท  พลาสติกแต่ละชนิดมีข้อจำกัดการใช้งาน มีอายุการใช้งาน  เปลี่ยนรูป เปลี่ยนสี มีรอยขีด รอยแตกงา ต้องทิ้งทันที และต้องแยกขยะ เพื่อให้มีนำไปรีไซเคิล   ขยะพลาสติกในบ้าน ในวัด ในชุมชน ในโรงเรียน ในสถานที่ราชการ ในสถานศึกษา ในอาคารร้านค้า สถานที่สาธารณะใดๆ เป็นตัวที่บ่งชี้ส่วนหนึ่งของสุขภาวะได้ระดับหนึ่ง เช่น  บ้านใดมีซองขนมมาก ลูกหลานก็เสี่ยงต่อความอ้วน ฟันผุ โรคไต กินอาหารเครื่องดื่มสำเร็จรูปมาก พลาสติกและโฟมก็มาด้วย แถมอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูปยังสร้างความเสี่ยงให้สุขภาพอีก

เมื่อเราปรับความคิดได้ เราก็เห็นทางเลือก เช่น ทางเลือกในการใช้ใบตอง แม้ว่าจะเป็นขยะเหมือนกัน แต่ก็ย่อยสลายง่าย  ใช้ตะกร้า ใช้ถุงผ้า ลดการกินอาหารเครื่องดื่มสำเร็จรูป หากจำเป็นซื้อ ควร เลือกซื้ออย่างพิถีพิถัน  ส่วน ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า  ควรเอาใส่ใจความปลอดภัยของผู้บริโภคและต้องทำตามกฎหมายหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับภาชนะบรรจุ   เช่น น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์อาหาร ขนม สมุนไพร    สำหรับ พลาสติกที่ใช้กับอาหารสุก อาหารทอด ต้องเลือกให้ถูกประเภท นอกจากการใช้แล้ว การปิดผนึก ก็สำคัญเพราะอาจเปิดช่องให้เกิดเชื้อราได้ เช่น   ซองพลาสติกที่ใส่น้ำพริกลาบ การปิดผนึกไม่ดี  อาจมีทำให้มีความชื้น  เข้าไปทำให้มีเชื้อราง่าย เป็นต้น

อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว เย็นตาโฟ  ซึ่งมักใช้เมลามิน เพราะ สะดวก ควรเลือกใช้เมลามินที่มีเครื่องหมาย มอก. เวลาล้าง ห้ามใช้แปรงขัดที่จะทำให้มีรอยก้นชาม เพราะเมื่อใส่อาหารร้อน สารเคมีจะปนเปื้อนออกมา   และควรเปลี่ยนทิ้งทันที เมื่อเห็นว่า ก้นชามเริ่มเปลี่ยนสี  เพราะเสื่อมสภาพแล้ว ถังดำเป็นพลาสติกรีไซเคิล ห้ามนำมาใส่อาหารทอดขาย

                อย่าซื้อเพราะเห็นว่าราคาถูก สีสันสวยงาม   บางทีมีการขายถังพลาสติกข้างทาง ต้องดูว่าพลาสติกมีฉลากไหม มีมาตรฐานไหม  หากเป็นถังใบโตไม่มีฉลากอย่าซื้อ และบางทีอาจเป็นถังพลาสติกที่มีการใช้มาแล้ว เช่น อาจเป็นถังพลาสติกที่บรรจุสารเคมี ซึ่งมักจะเป็นถังค่อนข้างหนา เกษตรกรมักซื้อไปใช้ ซึ่งต้องระวัง เพราะเราไม่ทราบว่า เดิมใช้กับสารเคมีใดมา หากจำเป็นต้องใช้ต้องระวัง ห้ามใช้กับงานที่เกี่ยวข้องกับการกินการปรุงการแปรรูปอาหาร  เช่น การทำน้ำหมักสำหรับบริโภค หรือบางคนเอาแกลลอนน้ำมันเครื่องมาล้าง แล้วนำไปบรรจุน้ำดื่ม หิ้วไปท้องไร่ท้องนา อันนี้อันตรายมาก 

                ไม่ว่า ข้อสงสัยเรื่องพลาสติกเป็นอย่างไร การเพิ่มเติมความรู้  การตระหนักในสิทธิผู้บริโภค ทำตามกฎหมาย ให้ความดูแลเอาใจใส่ต่อสุขภาพ  ดูแลสิ่งแวดล้อม  ช่วยกันลดโลกร้อน  ลดการใช้พลาสติก ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ   ต่างๆเหล่านี้  ล้วนต้องการความร่วมมือจากทุกคน ทุกส่วนงาน  ตั้งแต่  ตัวเรา  สังคม  ผู้บริหารองค์กร โรงเรียน  ครู องค์กรส่วนท้องถิ่น เทศบาล อสม. นักกิจกรรม พระสงฆ์สามเณร และประชาชนทั่วไป และอย่านิ่งดูดาย หากพบว่ามีการใช้พลาสติกเป็นภาชนะที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ขอให้ร้องเรียน และใช้สิทธิผู้บริโภค  แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น สคบ. อย. สสจ. องค์กรส่วนท้องถิ่น และองค์กรผู้บริโภค      

แหล่งข้อมูล

http://www.dmsc.moph.go.th/webroot/BQSF/File/VARITY/recycle_plastic.htm

http://www.tint.or.th/nkc/nkc51/nkc5101/nkc5101f.html