ทำบุญปีใหม่ เติมใจด้วยธรรมะ

0
1740

คำว่า ” ปี” หมายถึง เวลา ชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน อันเป็นเวลา 12 เดือนตามสุริยคติ เมื่อก้าวถึงปีใหม่ เราก็จะลาปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ด้วยหัวใจเปี่ยมความหวัง ที่จะก้าวผ่านปีด้วยความสุข พร้อมกับสร้างโอกาสที่จะช่วยให้มั่นใจว่า ในปีใหม่ เราจะได้รับสิ่งที่ดีดี มีความเจริญก้าวหน้า  ด้วยการทำบุญ การไหว้พระ การปฏิบัติธรรม การสวดมนต์ การให้การเผื่อแผ่แก่คนอื่น และการบำเพ็ญประโยชน์

แม้การนับปฏิทินตามแบบสากลจะแตกต่างจากปฏิทินล้านนา  หรือแตกต่างจากปฏิทินดั้งเดิมของแต่ละชนชาติ แต่ด้วยการจัดการเวลาตามปฏิทินแบบสากล เป็นระบบการทำงาน ประกอบการความกลมกลืนของวัฒนธรรม จึงกลายเป็นเรื่องเดียวกันของคนทั้งโลก ทำบุญปีใหม่แบบสากลเราก็ทำ พอถึงปี๋ใหม่เมือง ก็ยิ่งทำบุญที่เป็นมากกว่า เพราะเป็นประเพณีเป็นวัฒนธรรม  เป็นความเชื่อของเราด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงปีใหม่ เราก็มีการตักบาตรในวันขึ้นปีใหม่ เป็นที่นิยมกันมาก เราต่างตระเตรียมดอกไม้ และข้าวของทำบุญต่างๆ การตักบาตร ในวันขึ้นปีใหม่เป็นการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการทำบุญ เป็นการปลุกจิตใจให้แจ่มใสอิ่มเอม  ช่วยให้มีกำลังใจที่เข้มแข็ง ไม่อ่อนแอต่อกิเลส อีกทั้งเป็นการธำรงส่งเสริมและสืบทอดพระพุทธศาสนา ส่งเสริมและบำรุงพระภิกษุสามเณร ผู้ทรงศีล และถือเป็นส่งเสริมคุณความดีทั้งผู้ตักบาตรและพระภิกษุสามเณรผู้รับบิณฑบาตร ดังนั้นเราควรตระเตรียมและเข้าใจถึงแก่นแท้ของการตักบาตร

การตักบาตรเป็นสังฆทาน คือการถวายโดยไม่เจาะจง จึงควรตั้งใจว่าจะทำบุญตักบาตรแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรในพระพุทธศาสนาโดยไม่เจาะจงว่าเป็นรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อพระภิกษุสามเณรรูปใดผ่านมาก็ตั้งใจตักบาตรแก่พระภิกษุสามเณรรูปนั้นและรูปอื่นๆ ไปตามลำดับ  ก่อนที่จะตักบาตร เราก็อธิฐานด้วยภาษาบาลีหรือภาษาไทย  หรือคำเมืองตามที่เราจะสะดวกเพียงแต่เราควรอธิษฐานด้วยจิตใจผ่องใส มีความตั้งใจ ขจัดเรื่องอื่นไม่ให้มารบกวน

การตักบาตร มีแนวทางปฏิบัติคือ (1)แต่งกายให้เหมาะสม อาจจะแต่งกายแบบล้านนา หรือแบบประยุกต์ (2)จัดเตรียมอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะใส่ภาชนะเรียบร้อย มากหรือน้อยตามความต้องการ       หรือหากเป็นของสำเร็จรูปอื่นๆ ก็ควรเลือกของที่เหมาะสมในการตักบาตร   (3)ก่อนที่จะตักบาตรควรตั้งจิตถวายด้วยศรัทธาและความเคารพ ตั้งความปรารถนา เพื่อทำกิเลสให้ลดน้อยลงจนถึงหมดสิ้นไป  (3) ในขณะที่ตักบาตร ควรอยู่ในกริยาอาการสำรวม (5)เมื่อตักบาตรเสร็จแล้ว ควรไหว้ด้วยความเคารพ

การทำบุญ อื่นๆในช่วงปีใหม่ ก็มีอีกหลายวิธีตามความสมัครใจ หรือตามเชื่อ เช่น การทำบุญสะเดาะเคราะห์ การถวายสังฆทาน การไหว้พระ ๙ วัด เป็นต้น

ส่วนการปฏิบัติธรรมในช่วงปีใหม่ ก็เป็นนิยมกันมากขึ้น หลายครอบครัว หลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ของปีใหม่ที่ผู้คนต่างเดินทางท่องเทียว เฉลิมฉลอง มีกิจกรรมงานบันเทิงต่างๆ โดยมุ่งสู่การปฏิบัติธรรม การฝึกวิปัสสนา แสวงหาความสงบ ศึกษาธรรมะ พาลูกพาหลาน ไปฝึกปฏิบัติด้วย เพื่อให้คุ้นชินและเป็นการสร้างโอกาสให้ลูกหลานได้เรียนรู้ธรรมะ ฟังเทศน์ฟังธรรม แม้เด็กๆบางคน อาจไม่นิ่ง ยังคงซุกซน แต่ในใจอาจนิ่งมากกว่าผู้ใหญ่  ที่มักมีเรื่องขบคิดกังวลวนเวียนมารบกวน

 

การปฏิบัติธรรมช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะต่อเนื่องถึงการสวดมนต์ข้ามปี  ซึ่งก็เป็นนิยมกันมากขึ้นในปัจจุบัน  เป็นการนับสู่การรับปีใหม่ด้วยการสวดมนต์

การสวดมนต์ข้ามปี  ให้คุณค่าต่อจิตใจ ทำให้เราเชื่อมั่นที่จะก้าวต่อของชีวิตปีใหม่ ทำให้เรามั่นใจว่าด้วยด้วยความตั้งใจและมีสมาธิในการสวดมนต์ ช่วยเสริมบุญให้กับตนเอง เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตน  เมื่อมุ่งจิตให้ใส่ใจกับการสวดมนต์ ก็เป็นพลังที่จะช่วยให้ผู้สวดมนต์ลดกิเลส มุ่งทำดี ลดความฟุ้งซ่าน ลดความเห็นแก่ตัว

การทำบุญปีใหม่ ขึ้นอยู่กับความพร้อม ของแต่ละคน แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด การทำบุญปีใหม่ ก็เป็นโอกาสให้เราได้มองย้อนดูเรื่องที่ผ่านมา รู้จักให้อภัยและลดละเรื่องที่ไม่ดี เปิดใจและมั่นใจที่ทำความดี นั่นคือการเติมธรรมะให้ชีวิตเรา  เป็นหลักสำคัญให้เราได้เดินทางตามกาลเวลา ด้วยจิตใจที่ดี และทำความดีเสมอ

อย่างไรก็ตาม การทำบุญ ไม่เพียงแต่การทำบุญที่วัด  หรือพิธีศาสนาเท่านั้น หากเรายังสามารถทำบุญด้วยการให้ ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ  เช่นการบริจาคให้กับคนที่ขาดแคลน ลดการเฉลิมฉลอง แล้วเปลี่ยนมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะแทน  ฉลองปีใหม่ไม่ต้องมีเหล้า ซื้อของตามความเหมาะสมไม่ฟุ่ยเฟือย เดินทางบนท้องถนนด้วยความไม่ประมาท เรื่องต่างๆเหล่านี้ ก็จะเป็นอานิสงค์ให้ท่านมีความสุขความเจริญ

สวัสดีปีใหม่เจ้า ข้าเจ้าขออวยพรให้ทุกท่าน มีความสุข และมีสุขภาพดี ทุกๆท่านเจ้า

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันพุธที่  ๒๖  ธค  ๒๕๕๕ คอลัมน์ภูมิปัญญาเพื่อสุขภาพ หน้า  ๕