เจ็บอีกสักกี่ครั้งกับจดหมายหลอกลวง

0
1350

“…… สุดซวย หลังเจอบริษัทส่งจดหมายอ้างเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัล แถมไปถึงที่ให้จับสลากได้โฮมเธียเตอร์ ยี่ห้อดังชุดใหญ่ ก่อนออกลายบอกต้องเสียภาษีก่อน ด้านสองผัวเมียหลงเชื่อถอนเงินแบงก์มาจ่าย พอถึงบ้านพบเครื่องเสียงสุดห่วย แถมไม่ใช่ยี่ห้อดัง ต้องโร่ฟ้องดีเอสไอช่วยจับคนโกง”

 

นี่คือข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เป็นเหตุการณ์เกิดที่อำเภอสารภี เชียงใหม่

                และนี่คือปัญหา “เจ็บ”ซ้ำซากอีกเรื่องหนึ่งของผู้บริโภค

                มาลำดับดูอีกครั้ง ว่าเรื่องดำเนินไปมาอย่างไร

  1.  อยู่บ้านดีดี ได้รับจดหมายจากบริษัท……ระบุว่า คุณคือผู้โชคดีจากการจับรางวัล ให้ไปรับสินค้าสมนาคุณ ซึ่งแจกฟรีโดยไม่ต้องซื้อสินค้าใดๆ ก่อน รวมทั้งไม่มีเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยให้นำจดหมายและบัตรประชาชนไปติดต่อที่บริษัทด้วยคตนเอง        

                2. ไม่ได้ตรวจสอบ ว่าเท็จจริงอย่างไร ก็เชื่อตามจดหมายไปถึงบริษัท

 

                3. พนักงานชี้แจงว่า ผู้โชคดีจะมีสิทธิจับรางวัล 3 ครั้ง เพื่อชิงรางวัล ซึ่งการจับรางวัลใบแรกจะจับไม่ได้รางวัล(มักเป็นเช่นนี้) จับครั้งที่สอง ได้รางวัลเป็นชุดโฮมเธียเตอร์ชุดใหญ่ เครื่องเล่นดีวีดี และหม้อหุงข้าวขนาด 1.5 ลิตร(ท่านผู้อ่านลองคำนวณราคาดูนะคะ)      

   4. หลังจากจับรางวัลได้ พนักงานบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ในเครือของยามาฮ่า ราคา 66,000 เป็นสินค้ารุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งผู้โชคดีได้รับรางวัลต้องเสียภาษีร้อยละ 30 ในราคา 19,900 บาท

              5. ด้วยความดีใจที่ได้รับรางวัลใหญ่ ผู้เสียหายจึงออกไปถอนเงินจากธนาคารมาจ่ายค่าภาษีตามที่พนักงานบอก

6. พนักงานหญิง บอกด้วยว่า บริษัทจะคืนเงินภาษีร้อยละ 25 ให้ในการจัดงานของบริษัทที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 ก.ย.2555 ที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ซึ่งในงานดังกล่าวยังจะมีการแจกทองหนัก 3 บาทให้กับผู้เสียหาย พร้อมทั้งแจกคูปองมูลค่า 10,000 บาทเพื่อใช้ซื้อสินค้าราคาถูกภายในงาน อีกทั้งยังจะมีการจับสลากชิงราวัลรถยนต์โตโยต้าวีโก้ในงาน

                  7. พนักงานกำชับให้เก็บเป็นความลับ โดย ให้เก็บจดหมายที่บริษัทส่งถึงไว้ให้ดี หากได้ครบ 4 ฉบับแล้ว สามารถนำมาแลกรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า รุ่นฟีโน่ ฟรีหนึ่งคัน แต่มีข้อแม้ว่าห้ามนำสินค้าที่ได้ไปจำนำหรือขาย และห้ามพูดให้ร้ายบริษัทเด็ดขาด หากบริษัทตรวจพบว่ามีการขาย หรือจำนำสินค้า หรือพูดในทางที่ไม่ดีเกี่ยวกับบริษัทจะยกเลิกสิทธิพิเศษทุกอย่าง

   8. กลับมาถึงบ้าน พบว่าชุดโฮมเธียร์เตอร์ เป็นของที่ไม่ได้มาตรฐาน สัญญาณไม่ชัด ยี่ห้อ… จึงรู้ตัวว่าน่าจะถูกหลอก จึงตัดสินใจเดินทางมาแจ้งความกับ สคบ.และดีเอสไอ

                9.เจ้าหน้าที่สอบสวน พบว่าน่าจะเป็นเครือข่ายหลอกขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยอาศัยวิธีการทำทีส่งจดหมายไปยังผู้รับว่าเป็นผู้โชคดี ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา

   10. มีคำเตือนต่อมาว่า บริษัท มักย้ายหนีขอให้ประชาชนระวังและ ขอแจ้งเตือนประชาชนว่าหากได้รับจดหมายสงสัยอาจกำลังถูกหลอกลวง โดยสามารถปรึกษากับทางเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และทาง สคบ.เชียงใหม่ ได้ในวันและเวลาราชการ

เมื่อลำดับดู ก็เป็นเหมือนเหตุการณ์ไม่ต่างกับคดีผู้บริโภคอื่นๆ ที่ถูกหลอกลวงจากจดหมายเช่นนี้  ซึ่งแม้เราจะสามารถแจ้งความดำเนินคดี มีการเตือนภัย แต่ในความเป็นจริงปัญหามันเกิดจากอะไร

                ทั้งๆเราเป็นผู้บริโภคที่มีสิทธิมีกฎหมายคุ้มครอง แต่เรากลับเพิกเฉย ไม่ตระหนักในสิทธิและไม่สนใจคำเตือน          และที่สำคัญ ทำไมเราเชื่อ ทำไมเราไม่เฉลียวใจ ทำไมเราไม่หาข้อมูลตรวจสอบ

                ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทัน ต้องเปิดรับข้อมูลข่าวสาร ใฝ่รู้ สนใจข้อคิดข้อเตือนภัย    และจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องขจัดความโลภ อย่าเชื่อง่าย อย่าลอง อย่าเห็นแก่ของ(ที่คิดว่า)ฟรี

 สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก www.manager.co.th