ยามเมื่อต้องการผู้บริจาคเลือด

0
1565

หลายครั้งที่ผู้เขียนจัดรายการวิทยุ มักจะมีกระดาษเขียนข้อความสั้นๆ ขึ้นต้นว่า ต้องการบริจาคเลือดกรุ๊ป…/บริจาคเกล็ดเลือดด่วน!..         จากนั้นก็มีข้อความรายละเอียดระบุชื่อผู้ป่วย โรคที่เป็น กรุ๊ปเลือด โรงพยาบาล และหมายเลขโทรศัพท์….ซึ่งนักจัดรายการวิทยุทั้งหลาย ก็จะมีประสบการณ์เช่นนี้  ซึ่งแต่ละสถานีก็พร้อมที่จะส่งประกาศให้นักจัดรายการทันที

                 

         บางครั้งต้องประกาศหลายๆครั้ง จนกว่าจะมีผู้มาบริจาคเพียงพอ บางครั้งก็มีผู้บริจาคจำนวนมากจนเกินกำลังของโรงพยาบาลที่จะจัดการรับบริจาคได้ ซึ่งตอนหลังก็มักจะให้เบอร์โทรศัพท์ญาติคนไข้โดยตรง เพื่อจะได้นัดหมาย และประเมินปริมาณที่ต้องการ ที่ต้องเกาะติดหน้าห้องบริจาคเลือดตลอด จนกว่าจะได้ปริมาณตามที่แพทย์ระบุ

ยิ่งในปัจจุบันมีการสื่อสารหลากหลาย รวดเร็ว ก็มีการบอกต่อกันและกัน ทั้งผ่านมือถือ ระบบออนไลน์ เว็บบอร์ด หรือกลุ่มต่างๆในโลกอินเตอร์เนต  ทำให้การส่งต่อขอรับการบริจาค  จึงมีผู้บริจาครายใหม่ๆ เข้ามาช่วยบริจาคมากขึ้น ส่วนในชุมชน ก็มีรูปแบบของการขอรับบริจาคที่แตกต่างกันไป นอกเหนือจากญาติของตนเองแล้ว ก็อาจจะมีการไปพูดคุย ขอร้องหรือชักชวนให้ช่วยบริจาค บางครั้งก็มีการประกาศเสียงตามสาย หรือวิทยุชุมชน

ท่านใดที่มีประสบการณ์ต้องการผู้มาช่วยบริจาคเลือดให้กับญาติพี่น้องที่เตรียมผ่าตัด จะทราบดีว่าการหาผู้มาช่วยบริจาคนั้นเป็นอย่างไร   เช่น เมื่อได้รับความชัดเจนจากแพทย์ที่ทำการรักษาแล้ว ซึ่งจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากพยาบาลด้วยว่า หลักการเบื้องต้นในการมาบริจาคเลือดมีอะไรบ้าง จากนั้นก็ตามญาติพี่น้องว่าคนใดจะสามารถบริจาคได้ หากต้องการมาก จะหาใครมาช่วย หากไม่พอจะไปแจ้งขอรับการบริจาคที่ใด เช่น ประกาศรายการวิทยุ  เดินทางไปยังหน่วยงานที่ผู้คนมากๆที่อาจจะช่วยบริจาค ไม่ว่าจะเป็นค่ายทหาร สถานีตำรวจ สถาบัน มหาวิทยาลัย  รวมถึงวัด ซึ่งก็มีพระภิกษุสามเณร สามารถบริจาคได้ด้วยเช่นกัน 

               บางรายมีผู้มาบริจาคมาก บางรายก็อาจจะติดขัด ยิ่งญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกล จะติดต่อใครดี  ไม่รู้จะใช้ช่องทางใด ไม่รู้จักใคร ไม่รู้จะทำอย่างไร  แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นว่า  หากญาติน้อย รู้น้อย ไม่คล่องตัว จนกังวลว่าจะไม่สามารถผ่าตัดได้กะมัง  เพราะมาตรฐานการรักษาอย่างเท่าเทียมนั้นเป็นระบบคุณภาพของสถานบริการสุขภาพอยู่แล้ว เพียงแต่บางครั้งกรุ๊ปเลือดหรือปริมาณที่ต้องการไม่มีหรือไม่เพียงพอในธนาคารเลือด จึงจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือที่ญาติคนไข้จะมีส่วนช่วยได้มาก  ยิ่งเป็นกรุ๊ปเลือดหายาก ยิ่งต้องหาทุกช่องทางที่จะขอรับการบริจาค

ทันทีที่มีผู้มาบริจาค เป็นเหมือนพระมาโปรด เป็นความยินดี เป็นความขอบคุณ เป็นความซาบซึ้งใจอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งโรงพยาบาลที่จะสามารถรักษาคนไข้  แม้ว่าบางท่านไม่สามารถบริจาคได้ เพราะน้ำหนักน้อย นอนดึกทำให้เลือดลอยหรือเลือดจาง หรือสาเหตุอื่นใด ทุกท่านที่ได้เดินทางมาโรงพยาบาลเพื่อบริจาคก็ได้ให้ความหวังในการรักษา ด้วยความขอบคุณไม่รู้ลืมของญาติและผู้ป่วย

การบริจาคเลือด หรือการบริจาคเกล็ดเลือด เป็นการให้โอกาสรักษาผู้ป่วย ให้หายจากโรค ให้บรรเทาอาการ ให้แก้ไขนาทีฉุกเฉินของชีวิต  เป็นบุญกุศลโดยแท้ เพราะการบริจาคเลือดไม่ว่าจะเป็นการบริจาคที่ระบุคนไข้ และการบริจาคเลือดให้สภากาชาดไทย การบริจาคเลือดให้โรงพยาบาล คือการให้ชีวิต คือการให้มีปริมาณเลือดพร้อมทั้งการรักษาผู้ป่วยทั่วไป และในภาวะฉุกเฉิน

บางท่านมีประสบการณ์บริจาคเลือดให้พ่อแม่ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง ทำให้ทราบถึงความจำเป็นการบริจาคเลือด  กลายเป็นผู้ที่สมัครใจบริจาคเลือดเป็นประจำ บางท่านลองบริจาคตามที่มีการประกาศหรือการชักชวน  จากนั้นตั้งใจพร้อมจะบริจาคทุกครั้งที่ทราบว่ามีผู้ต้องการ และอีกมากมายหลายท่านที่บริจาคเป็นประจำ ล้วนก่อเกิดคุณค่ามหาศาลต่อชีวิต

       

         อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการบริจาคเลือดหรือการบริจาคเกล็ดเลือด มีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ผู้ที่ต้องการบริจาครายใหม่ และประชาชนทั่วไป ที่อาจจะไม่ทราบว่าวันใดที่ตนเองอาจจะได้บริจาคให้ญาติพี่น้อง หรือสมัครใจบริจาคให้ผู้อื่น จะได้มีความรู้ สามารถเตรียมความพร้อมบริจาคเลือดหรือเกล็ดเลือดได้

การบริจาคเลือดเป็นสิ่งสำคัญมาก ในการรักษาชีวิตผู้ป่วย ด้วยการให้ ด้วยน้ำใจ ด้วยการแบ่งปัน และเป็นการสร้างกุศลต่อชีวิต ยิ่งหากเกิดเหตุต้องการรับบริจาคเลือดด่วน  เหตุนั้นยามนั้นคือนาทีชีวิต ที่ท่านสามารถช่วยได้

©สุภฎารัตน์