“สารตะกั่ว” อันตรายใกล้ตัว

0
3093
   การตรวจพบสารตะกั่วในเด็กที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก พบปริมาณสารตะกั่วในเลือดของเด็กในพื้นที่พักพิงชั่วคราวในจังหวัดตาก บริเวณแนวตะเข็บชายแดน สูงกว่าเกณฑ์กำหนด

โดยการเก็บตัวอย่างภาชนะ พบว่ากระทะและหม้อแขก ทำจากโลหะผสมคุณภาพต่ำ ราคาถูก ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกระทะ พบสารตะกั่วที่เป็นส่วนประกอบในกระทะ 800 ส่วนต่อล้านส่วน ส่วนในหม้อแขกพบ 400 ส่วนต่อล้านส่วน ซึ่งค่ามาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ของไทยเรา กำหนดให้ภาชนะที่ใส่อาหารต้องมีค่าสารตะกั่วละลายปนเปื้อนในอาหารได้ไม่เกิน 5 ส่วนต่อล้านส่วน

นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ บางคนต้องหันไปสำรวจในห้องครัว ดูถ้วยชามกาละมังหม้อกระทะที่ใช้ประจำว่าจะเข้าข่ายไหม ในขณะที่ผู้คนมากมายกลับไม่ตระหนักในเรื่องนี้ เพราะอย่างไรเสียในบ้านตนเองก็ไม่ได้ใช้หม้อจากพม่าหรือจากชายแดนแน่นอน

แต่ในความเป็นจริง สารตะกั่วเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก เนื่องจากเครื่องอุปโภคบริโภค อาหาร น้ำ เครื่องดื่ม มากมายหลายประเภท มีการใช้วัตถุดิบที่อาจมีการปนเปื้อนสารตะกั่ว ระบบอุตสาหกรรมและสารตะกั่วอินทรีย์

ดังนั้นสารตะกั่ว นับเป็นปัญหาต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ยกตัวอย่าง ในระยะหลายปีมากนี้ในประเทศไทยของเราเอง ก็มีการรณรงค์อันตรายจากสารตะกั่วในหม้อก๋วยเตี๋ยวและตู้น้ำเย็นในโรงเรียน จนมีกฎหมายควบคุมออกมา พร้อมๆกับการยกระดับมาตรฐานการผลิตตู้น้ำเย็นและหม้อก๋วยเตี๋ยว

ในช่วง 10ปีมานี้ สินค้าจากเมืองจีน ก็มีพบปัญหาจากการส่งไปขายยังต่างประเทศ ที่พบว่า มีสารตะกั่วปนเปื้อนสูง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าของเล่นเด็ก ในประเทศจีนเองก็พบปัญหาเด็กมีสารตะกั่วในระดับสูงอยู่เนืองๆ

ผู้บริโภคจึงไม่อาจละเลย ปัญหาสารตะกั่ว เพราะมีความเป็นอันตรายสูง มีการสะสมในร่างกาย แม้จะสามารถขับออกได้ ก็เป็นปริมาณน้อยมาก และที่สำคัญนี่คือปัญหาที่องค์กรผู้บริโภคเกาะติดอยู่หลายประเด็นเนื่องจาก มีความชัดเจนถึงความเป็นอันตราย และความเสี่ยงของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานมากมายที่เข้ามาในเมืองไทย โดยเฉพาะจากชายแดน

ตะกั่ว เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร  มีการดูดซึมสู่ร่างกาย 3 ทางคือ  

  1 .การดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร จาก การปนเปื้อนของตะกั่วในอาหาร น้ำ เครื่องดื่ม และภาชนะเครื่องใช้ที่มีตะกั่วปนเปื้อน พบว่าร้อยละ 70-85 ของตะกั่วที่เข้าสู่ร่างกายคนปกติได้จากอาหาร  โดยเฉลี่ยผู้ใหญ่สามารถดูดซึมตะกั่วจากอาหารได้ประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณตะกั่วในอาหารและเด็กสามารถดูดซึมได้มากถึงร้อยละ 40-50 ของปริมาณตะกั่วในอาหาร

     2. การดูดซึมจากระบบทางเดินหายใจ การหายใจเอาควัน จากอาชีพหรือในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น จากการหลอมตะกั่ว หรือเชื่อมโลหะ นอกจากนี้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณสูงๆ ในอากาศ จะช่วยให้การดูดซึมของตะกั่วในปอดเข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น

     3. การดูดซึมทางผิวหนัง เกิดเฉพาะตะกั่วอินทรีย์ ผู้มีภาวะเสี่ยง ได้แก่ คนงานที่ทำงานในปั๊มน้ำมัน ช่างซ่อมเครื่องยนต์

 พิษจากการได้รับสารตะกั่ว นั้นมีทั้งอาการเฉียบพลันและเรื้อรัง หลังจากตะกั่วดูดซึมจากลำไส้แล้ว ตะกั่วจะเข้าสู่ตับโดยผ่านทางเส้นเลือดดำ บางส่วนจะถูกขับออกทางน้ำดีและอุจจาระ ถ้าหากตะกั่วเข้าไปในปอด จะเข้าสู่กระแสเลือดซึ่งจะพาตะกั่วไปทั่วร่างกาย กระจายไปอยู่ที่เส้นผมและตามเนื้อเยื่ออ่อน เช่น สมอง ปอด ม้าม ตับ และไต ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงเฉียบพลันได้

 ตะกั่วสะสมในร่างกาย  ในกระแสเลือด ในเนื้อเยื่ออ่อน ในกระดูก 90% ของตะกั่วที่สะสมอยู่ในร่างกายจะอยู่ในกระดูก ซึ่งจะก่อให้เกิดพิษเรื้อรังทำให้มีอาการปวดตามข้อ กระดูกผุ และหักง่าย ถ้าไปสะสมที่รากฟันจะทำให้ ฟันหลุดได้ง่าย มีผู้วิจัย พบว่าตะกั่ว สามารถเกาะกับกระดูกในร่างกาย ได้นานถึง 32 ปี

อาการพิษเรื้อรังจากสารตะกั่ว คือ ปวดท้อง น้ำหนักลด เบื่ออาหารคลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก อาการพิษทางประสาท และสมอง ทำให้ทรงตัวไม่อยู่ ประสาทหลอน ซึม ไม่รู้สึกตัว ชัก มือและเท้าตก เป็นอัมพาต สลบ และอาจเสียชีวิตได้

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  20 มีนาคม 55  คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7

 

“สารตะกั่ว” อันตรายใกล้ตัว  (จบ)

                อันตรายจากสารตะกั่ว อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา  ผู้บริโภค จึงควรรู้กฎหมาย สิทธิ และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการช่วยกันเฝ้าระวังถ้าพบเห็นปัญหาที่อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนจากสารตะกั่ว

ซึ่งมีตัวอย่างขององค์กรด้านสุขภาพและองค์กรผู้บริโภคที่ร่วมกันรณรงค์ ปัญหาจากสารตะกั่ว ที่เกิดจาก เครื่องทำน้ำเย็น หม้อก๋วยเตี๋ยว  และนำไปสู่การออกประกาศเป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ

อันตรายจากสารตะกั่วปนเปื้อนในภาชนะ,อาหาร เครื่องดื่ม ,ของเล่น ,สิ่งของเครื่องใช้ และจากสิ่งแวดล้อม มีกฎหมายและหน่วยงานกำกับควบคุม คือ กระทรวงอุตสาหกรรม เช่นกำหนดมาตรฐานภาชนะบรรจุอาหาร, การควบคุมการผลิตในระบบอุตสาหกรรมต่างๆ,กระทรวงสาธารณสุข เช่น พรบ.อาหาร ,กระทรวงคมนาคม เช่น การขนส่งทางบก กำหนดมาตรฐานควันรถ,กระทรวงเกษตร เช่น การควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตร

มาดูความเสี่ยงใกล้ตัวที่เราควรระวัง

1.             กระทะ,กระทะสำหรับทำหมูกระทะ ,หม้อที่ทำจากอะลูมิเนียม และสังกะสีที่มีความบาง และร้อนเร็ว มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารตะกั่ว หรืออะลูมิเนียม ได้ เช่น หม้อก๋วยเตี๋ยว หม้อแขก   ช้อนอลูมิเนียม โดยจะมีความอันตรายเมื่อ การปรุงอาหารที่มีรสเปรี้ยว น้ำส้มสายชู และอาหารที่รสเค็มมากจะมีความเป็นกรด และด่างสูง ตะะกั่วบัดกรี จะเกิดการกัดกร่อนปนเปื้อนในอาหาร เรามักพบว่า ก้นหม้อจะมีสภาพขรุขระของการกัดกร่อน และถ้าเราใช้นานๆ ขัดถูแรงๆบ่อยๆสารตะกั่ว อลูมิเนียมก็จะหลุดออกมาปนเปื้อนในอาหารได้

2.             กลุ่มภาชนะ หม้อที่ทำจากสแตนเลส ที่มีการบัดกรีด้วยสารตะกั่ว เช่น ตู้น้ำเย็น ,ตู้น้ำดื่มโรงเรียน,หม้อก๋วยเตี๋ยว,หม้อต้มน้ำเต้าหู้ขาย มีการศึกษาวิจัยพบว่าภาชนะเหล่านื้จะมีตะกั่วปนเปื้อนออกมากับอาหารและน้ำ ไม่ว่าจะที่อุณหภูมิสูงหรือต่ำ การใช้ตะกั่วบัดกรีจึงต้องจำกัดการใช้งานเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่ม แต่ถ้าเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มห้ามใช้ตะกั่วบัดกรี

3.             สารตะกั่ว  ในสีเคลือบลายจานชามเซรามิก จานชามเมลามีน ภาชนะพลาสติกต่างๆซึ่งแม้จะมีมาตรฐานอุตสาหกรรม แต่ก็มี ภาชนะที่ไม่ได้มาตรฐาน และสินค้าที่มาจากชายแดน มีขายตามตลาดนัด ตลาดเร่ ตลาดชายแดน และการเอามาใช้ในร้านอาหาร หรือเอามาใช้ผิดประเภท ก็จะทำให้สารตะกั่วปนเปื้อนออกมา  มีการศึกษาวิจัยพบว่า ภาชนะที่เคลือบสีสันลวดลายสวยงามจะพบสารตะกั่ว มาก

4.             สารตะกั่ว ในสีผสมอาหาร สีสังเคราะห์ สีย้อมผ้า สีย้อมในโรงงาน หัตถกรรม และสีทาบ้าน ซึ่งสีเหล่านี้จะมีโลหะหนักต่าง ๆ เซ่น โครเมียม แคดเมียม ปรอท ตะกั่ว สารหนู พลวง และเซเสเนียม เป็นต้น โลหะหนักเหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ แม้ได้รับเพียงปริมาณเล็กน้อย อาการอาจเป็นทั้งอย่างฉับพลันและเรื้อรัง   ซึงแม้เป็นสีผสมอาหารแต่หากใช้เกินกำหนดก็เสี่ยงอันตราย และยังมีลักลอบใช้สีย้อม มาใส่ในอาหารอีกมากมายที่ไม่ได้มีตรวจสอบ ส่วนสีทาบ้าน ก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับพวกเรา เนื่องจากสีทาบ้าน มีการวิจัยพบว่ามีสารตะกั่วสูง ดังนั้นจึงมีความพยายามเรียกร้องให้มีการกำหนดมาตรฐานสารตะกั่วในสีทาบ้านไม่ให้อันตรายต่อผู้อยู่อาศัย

5.             สิ่งของเครื่องใช้ และของเล่นเด็ก ก็เป็นปัญหาทั่วโลก ที่มีการพบการปนเปื้อนของสารตะกั่ว โดยเฉพาะสินค้าของเล่นเด็กจากประเทศจีน  ของเล่น และเครื่องใช้ของเด็ก มักมีสีสันจัดจ้าน เพื่อสร้างความสนใจให้เด็ก  จึงต้องระมัดระวังการซื้อการเล่น และการใช้ให้มาก เร่างกายเด็กสามารถดูดซับตะกั่วได้ดีกว่าผู้ใหญ่มาก การได้รับสารตะกั่วในวัยเด็กจึงส่งผลร้ายมากกว่าในวัยผู้ใหญ่  มีผลให้เติบโตช้า ไอคิวต่ำ เพราะสมองถูกตะกั่วทำลาย

6.             กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษหรือสิ่งพิมพ์ใดก็ตามที่มีหมึก มีภาพมีลวดลาย  ห้ามเอาห่อหรือรองอาหาร เพราะจะมีสารตะกั่วปนเปื้อนออกมา   
7.             น้ำมันเชื่อเพลิง ควัน มลพิษต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมและน้ำซึ่งปกติจะไม่มสารตะกั่วแต่อาจจะเกี่ยวกับ อุปกรณ์ทีเกี่ยวข้องด้วย เช่นท่อน้ำ กาต้มน้ำ อย่าเผาขยะและอย่าเผาไม้ที่ทาสี การซ่อมแซมชูดลอกสีในบ้าน รั้วบ้าน ต้องระวัง

8.             สารตะกั่ว จากขยะอิเลคทรอนิค และจากขยะทั่วไป เช่นแบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย

9.             ฝุ่นผงตะกั่วเกาะติดกับเสื้อผ้าของผู้ที่ทำอาชีพสัมผัสกับสารตะกั่ว เช่น ช่างสี ช่างเชื่อม

10.          ระวังเด็กเล็กอยู่ในบริเวณที่มีสารตะกั่ว เช่น ขณะทาสีบ้าน,การบัดกรี

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย สิทธิ และอันตราย จากสารตะกั่ว จึงเป็นสิ่งจำเป็น และ หากพบว่า มีความเสี่ยง ควรรับการตรวจการเจาะเลือดตรวจหาสารตะกั่ว หรือหากมีอาการผิดปกติ ก็ควรพบแพทย์

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

b[email protected]

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  ..27 มีนา 55.คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7

 

แหล่งข้อมูล

http://www.tsnc.in.th/index.php?CID=66

http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_1_001c.asp?info_id=113

http://www.lph.go.th/lampang/index.php?option=com_content&view=article&id=745:2012-03-16-08-21-42&catid=9:test-news-health

http://www.ryt9.com/s/prg/228582

http://healthy.in.th/categories/green/news/1341

http://www.newswit.com/food/2011-08-30/09c3ddcbefab98e8ff37b2b100cdcc4c/

http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_47.html

http://www.siamhealth.net/public_html/environment/lead.htm