ทางเลือกถ้าไม่ใช้กล่องโฟมใส่อาหาร

0
2118

      ไม่มีทางเลือกอื่นที่จะไม่ใช้โฟมหรือ และหากจะใช้ทำอย่างไรให้ปลอดภัย

โฟมทำมาจาก โพลีสไตรีน ซึ่งหากได้รับความร้อนสูง มีสาร 2 ชนิดออกมาคือคือ(1) สไตรีน (styrene)มีผลต่อร่างกายเมื่อถูกผิวหนังหรือเข้าตาจะทำให้ระคายเคือง การสูด
เข้าไปจะมีอาการไอ และหายใจลำบากและ(2)เบนซิน (Benzene) เบนซินเป็นสารพิษ และเป็นสารก่อมะเร็ง

เหตุผลที่ใช้โฟม คืออะไร คือ ความสะดวก ง่าย  ทั้งคนกิน คนซื้อ คนทำ คนทิ้ง โดยมองข้ามความปลอดภัย ไม่สนใจหรือยอมรับภาวะความเสี่ยงจากโฟม เพราะ คิดว่า เป็นทางเลือกที่สะดวกกับทุกฝ่าย จัดการเรื่องอาหารได้ง่าย ราคาตามความพอใจ  ปัจจุบัน เราจึงกล่องโฟมเต็มเมือง ลุกลามไปถึงบนดอย

ผิดไหมที่ใช้โฟม ตอบได้ว่า ไม่ผิด เพราะมีกฎหมายกำกับการใช้ แต่ เรื่องสุขภาพ เราจะเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง ความเป็นอันตรายจากโฟมคือ อาหารที่ร้อน สัมผัสโฟม อาหารที่มันๆ จะทำให้โฟมละลายปล่อยสารพิษออกมา อาหารที่เหมาะสำหรับโฟม จึงเป็นอาหารจานด่วน ปัญหาของโฟม อีกอย่างหนึ่งคือ การใช้โฟมใหม่ ที่ไม่เช็ดเศษผงจากกล่องโฟม  และการใช้โฟมที่ไม่ได้มาตรฐาน

การใช้โฟมที่ถูกต้องคือ เลือกโฟมที่ได้มาตรฐาน เวลาใช้ต้องเช็ดเศษผงออกก่อนใช้ รองด้วยใบตองหรือกระดาษสำหรับรองอาหาร ทั้งตัวกล่องและฝากล่อง ไม่ให้อาหารสัมผัสโฟมโดยตรง แต่ไม่ว่าอย่างไร อย่ากินอาหารจากกล่องโฟมเป็นประจำ และห้ามนำกล่องโฟมเข้าไมโครเวฟ

และที่สำคัญคือ การใช้โฟม เหมือนเป็นการกำหนดชนิดของอาหารไปในตัว เราก็จะได้อาหารปรุงสุกด้วยน้ำมันทอด ผัด ข้าวขาว ผงปรุงรสเยอะ ทำไมจึงกล่าวเช่นนี้ เพราะหากเราเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เราไม่ได้คิดเรื่องอาหารอย่างเดียว เราคิดเรื่องคุณค่าโภชนาการ ความเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงเป็นเส้นทางโดยอัตโนมัติว่า ว่าจะเลือกเส้นทางใด หรือจะลดความซ้ำซาก ลดการเป็นขาประจำกล่องโฟมได้อย่างไร

ทางเลือกที่ไม่ใช้โฟม คือการหันกลับมาปรับประยุกต์ใช้ของดั้งเดิมเรา มีอะไรบ้างที่เราทำได้ ประการแรก คือการ ปรับความคิดของเราก่อน ขจัดความคิดที่ว่า ใช้โฟมสบายสะดวกออกไป แล้วเราจะพบว่า การไม่ใช้โฟมใส่อาหารไม่ยากอย่างที่คิด

ประการที่สองมาดูทางเลือกของเรา เช่น ข้าวห่อใบตอง ปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้น และไม่ใช้เรื่องยากหรือเหลือบ่ากว่าแรง มีกลุ่มแม่บ้านจำนวนไม่น้อย สามารถทำข้าวห่อได้ ทั้งอร่อยและปลอดภัย

ข้าวแกงใส่ถ้วยชามตักรับประทาน เป็นขันโตก หรือใส่ถ้วยชาม เรื่องนี้ มักถูกมองว่า ยุ่งยาก แต่ปัจจุบัน มีตัวอย่างหลายวัด ที่มีการจัดผ้าป่า ซื้อจานชามที่มีคุณภาพ และนำมาใช้ในงานวัดงานบุญ เป็นการลดการใช้กล่องโฟม

ข้าวปิ่นโต หรือข้าวใส่กล่อง ปัจจุบันเราจะพบว่า มีการขายปิ่นโตแบบเก่ามากขึ้น ในงานสุขภาพหลายแห่ง อาจไม่สะดวกหากเรายังคิดว่ากล่องโฟมสบายกว่า แต่อาจสะดวกและมีความสุข ที่เราจะมีปิ่นโตเป็นของตนเอง เวลาทำอาหารมากินกลางวันด้วยกัน ก็มีปิ่นโต หรือ สำนักงานที่มีการประชุมประจำ ก็ลองสั่งอาหารใส่ปิ่นโต ก็น่าสนใจ

เส้นแบ่งของการดูแลสุขภาพ อาจมีทางเลือกหลากหลาย เพียงแต่เราปรับความคิดทัศนคติ ก็จะสามารถจัดการได้ ล่าสุดผู้เขียนได้ไปร่วมงานอบรมการผลิตน้ำมันนวดไพลและยาหอมที่รพ.สต.ป่าบง สารภี  พอลงความเห็นว่า ไม่ใช้โฟม ก็มีปลาปิ้ง น้ำพริกปลา แกงแค แกงผักปั๋ง ใส่ถาดกินด้วยกัน โดยฝีมือของคนแม่ครัวชาวบ้าน อร่อยและมีประโยชน์ ล้างถ้วยชามด้วยกัน แทนการประชุมที่กินเสร็จลงถังขยะเป็นกอง เราก็มีงานหน้าหมู่ช่วยกัน และเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย

ถ้าจะใช้โฟมต้องใช้ให้ถูกต้อง เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และเปิดใจให้ทางเลือกที่ไม่ใช้โฟม เชื่อว่า จะช่วยทำให้มื้ออาหารประชุม สัมมนา และงานต่างๆ มีคุณค่าของอาหารและคุณค่าของการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยกัน

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]

 

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  25 กย 55  คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7